วันที่ 5 ก.พ. 2564 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงแถลงการณ์ “กลุ่มสร้างไทย” โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเยียวยาผู้ใช้แรงงานสัญชาติไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และต้องไม่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท นั้น กลุ่มสร้างไทย เห็นว่าหากจะมีการใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมเพื่อเยียวยาแก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะต้องเยียวยาแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทุกคนโดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน อันเป็นไปตามหลักการที่ว่า ทุกคนมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย (Equality before the law) และไม่เลือกปฏิบัติ (Non discrimination) ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้บัญญัติรับรองหลักการดังกล่าวไว้ในมาตรา 27 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด ฯลฯ ฐานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ จะกระทำมิได้”
“กลุ่มสร้างไทย” ระบุว่าการสร้างเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนจะต้องไม่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาทนั้น ไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนคนนั้นเป็นผู้ยากไร้ เพราะผู้ประกันตนอาจจะลงทุนในรูปแบบอื่น เช่น ลงทุนในหลักทรัพย์ กองทุน ตราสารอย่างอื่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรืออาจเก็บเป็นเงินสดที่มีมูลค่าสูงกว่า 500,000 บาท แต่กลับไม่ถูกตัดสิทธิ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงมีช่องว่างและสร้างความไม่เท่าเทียมไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเหมือนกันแต่กลับได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน
การกำหนดเงื่อนไขที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ได้ทำการแก้ไขเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลจึงไม่ควรสร้างเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตนเพิ่มอีก รัฐบาลควรเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้
“กลุ่มสร้างไทย” จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดที่กำหนดให้ผู้ประกันตนจะต้องไม่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท เพื่อให้การเยียวยาเกิดความเป็นธรรมอันจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง