วันที่ 31 ส.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมด้วย ภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวถึงผลการดำเนินงานชี้มูลความผิดระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ค. 2565
โดย นิวัติไชย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กล่าวหา วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กับพวกรวม 42 ราย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการเสนอและพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ฉบับที่ .. พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย
สำหรับพฤติกรรมของ สมศักดิ์ กับพวกนั้น นิวัติไชย กล่าวว่า ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และทำผิดข้อบังคับในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี 2551 ในหลายประการ เช่น กระทำการเร่งรีบให้ ส.ส.ลงมติ และไม่ส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่มีการทักท้วงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลัง จึงต้องส่งให้หน่วยงานอื่นของรัฐพิจารณาก่อนหรือไม่
ฉะนั้น สมศักดิ์ จึงไม่ทำหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับสภาฯ เร่งรีบผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย โดยไม่ทำหน้าที่ของมติที่ประชุมสภาว่าการขอแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการขัดกับหลักการแห่งร่างหรือไม่ อีกทั้งมีการเสนอมาตราหนึ่งเข้ามา ซึ่งตามหลักการต้องส่งเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่ส่งมาใหม่นั้นขัดหลักการหรือไม่ แต่ สมศักดิ์ ไม่ทำ
นิวัติไชย กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เป็นการดำเนินการที่มิชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติชี้มูลความผิด สมศักดิ์ กับพวก ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ ตาม พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ปี 2542 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 213/1 ซึ่งปัจจุบันได้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแล้ว
ชี้มูลความผิดหลายคดี พบ ญาติ-คนสนิท นักการเมือง ถูกฟ้องอ่วม!
ด้าน ภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษก ป.ป.ช. แถลงผลงานกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลคดีสำคัญ และผลการขับเคลื่อนงานของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) โดยจากรายงาน พบว่า ผลคำพิพากษาของศาลตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลคดีอาญา ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 – 31 ก.ค. 2565 โดยอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องคดีอาญาจำนวน 156 เรื่อง อยู่ในกระบวนการศาลชั้นต้น 132 คดี ลงโทษ 127 คดี ยกฟ้อง 5 คดี และอยู่ในกระบวนการศาลอุทธรณ์ 24 คดี ลงโทษ 23 คดี ยกฟ้อง 1 คดี
ขณะที่สถิติการลงโทษทางวินัย โดยมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.ค. 2565 พบว่า มีมติลงโทษทางวินัย 260 เรื่อง สามารถแบ่งเป็นการลงโทษทางวินัยร้ายแรง 195 เรื่อง และลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง 65 เรื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจากสถิติผลการดำเนินงานของผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนกลับดำเนินการในส่วนของการลงโทษวินัยร้ายแรงเพียง 84 เรื่องเท่านั้น
ฟัน จนท.รัฐ ออกโฉนดมิชอบให้ ‘กนกวรรณ’
ขณะที่ นิวัติไชย กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้อง กรณีการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฏหมายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 3 แปลง ที่ จ.ปราจีนบุรี ให้กับ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีกล่าวหาคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ โดยคดีนี้มีการส่งอัยการสูงสุด และมีคำสั่งฟ้องรวมถึงออกหมายจับแล้ว
นอกจากนี้ยังมีมติชี้มูลความผิด ทนง พิทยะ ประธานกรรมการบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) กรณีการจัดซื้อเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Rool-Royce ครั้งที่ 3 รุ่น TRENT -892 สำหรับเครื่องบิน โบอิ้ง แบบ B77-200 ER จำนวน 6 ลำ เมื่อปี 2547 ถึง 2548 ทั้งนี้แม้ไม่พบว่าได้รับผลประโยชนตอบแทนอย่างไร แต่ทำให้การบินไทยได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ
ขณะที่เรื่องการกล่าวหา รัชนี พลซื่อ ครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จ. ร้อยเอ็ด กับพวกทุจริตโครงการจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอน เพื่อแจกจ่ายให้กับโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน และการเรียนรู้ชุมชนและกลุ่มเยาวชน เมื่อปีงบประมาณ 2548 ถึงปี 2551
อีกทั้งการกล่าวหา พรชัย โควสุรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จ.อุบลราชธานีกับพวก ร่วมกันจำกัดคุณลักษณะเฉพาะในประกาศราคาจัดซื้อรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ กู้ภัยเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาที่ตนมีส่วนได้เสีย
เรื่องกล่าวหา นวพล บุญญามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จ.สงขลา กับพวก ดำเนินการโครงการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพประชาชน จ.สงขลา โครงการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ในจ.สงขลา เมื่อปี 2551-2552 โดยกำหนดการให้บริการในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่สถานพยาบาล และจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมีการชี้มูลฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และพ.ร.บ. ฮั้ว
เผยมี 2 คน ร้อง ส.ว.เอี่ยว ส.ต.ท.หญิงแล้ว ถ้าผิดร้ายแรงส่งฟ้องศาลฎีกา
นอกจากนี้ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ส.ต.ท.หญิง ทำร้ายร่างกายทหารรับใช้ ว่า ขณะนี้มีคนมายื่นร้องแล้วจำนวน 2 ราย แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ แต่จากการตรวจสอบคำร้องพบว่าเป็นการตัดข่าวจากสื่อมวลชนมาแปะ โดยไม่ได้มีการระบุว่า ส.ว. คนดังกล่าวคือใคร รวมถึงต้องมีการสอบถามว่าทราบข้อมูลจากที่ไหน รู้รายละเอียดอย่างไร ทั้งนี้แม้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายจะมีหน้าที่ตรวจสอบ แต่หากข้อมูลที่มีไม่เพียงพอ และไม่ชัดเจนก็ไม่สามารถลงไปตรวจสอบได้
นิวัตไชย กล่าวอีกว่า ดังนั้นต้องไปดูว่าถ้า ส.ว. มีการฝากหน่วยงาน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ฝากบุคคลเขาไปบรรจุเป็นราชการ ต้องดูว่า ส.ว. มีอำนาจหน้าที่อย่างไร ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งต้องดูเรื่องจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าผิดหรือไม่ และหากผิดร้ายแรง ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าไม่ใช่ความผิดร้ายแรงก็เป็นหน้าที่ของสภาฯ และอีกประเด็นคือบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นข้าราชการได้อย่างไร ซึ่งทางตำรวจกำลังตรวจสอบ ถ้าดำเนินการไม่ถูกต้องสามารถเอาผิดกับผู้ปฎิบัติได้เหมือนกัน
เมื่อถามว่า มีการเสนอข่าว และเปิดชื่อ ส.ว. ออกมาแล้ว จะเรียกมาสอบหรือไม่ นิวัติไชย กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริง ตนไปถามเจ้าอาวาสยังไม่รู้จักเลย ตนยังไม่อยากปรักปรำใคร แต่หากเกี่ยวข้องก็สามารถเรียกมาตรวจสอบได้ ทั้งนี้จะต้องดำเนินการเพราะเป็นเรื่องที่สาธารณชนสนใจ
เมื่อถามว่ากรอบระยะเวลาที่จะใช้ดำเนินการตรวจสอบประมาณกี่วัน นิวัติไชย ตอบว่า ยังระบุไม่ได้ แต่การกรอกข้อมูลคำร้องดังกล่าว ใช้เวลาไม่กี่วัน หลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับการนำผู้ร้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม