สำนักงานหลักประสันสุขภาพแห่งชาติ จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง "วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทางรอดใหม่จากโควิด-19" เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมอภิปราย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 มีอาการเริ่มต้นคล้ายกัน กลุ่มเสี่ยงของทั้ง 2 โรคนี้ก็คล้ายกัน วิธีป้องกันโรคก็เหมือนกัน อาการรุนแรงก็คล้ายกันอีก ซึ่งจากมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้ไข้หวัดใหญ่มีโอกาสระบาดน้อยลงในปีนี้ โดยช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขพบผู้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่แต่ตรวจไม่เจอเชื้อ กล่าวคือเจอ 0 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูฝนปีนี้ ถ้ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้นจะไปสร้างความสับสนในคลินิกโรคติดต่อทางเดินหายใจ แต่หากสามารถลดกลุ่มเสี่ยงลงก็ทำให้การจัดการโควิด-19 ง่ายขึ้น อีกทั้งไม่ไปแย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดของโรงพยาบาลอีกด้วย
"สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ประเทศไทยพยายามผ่อนปรนมาตรการหลายอย่าง ทำให้ความเสี่ยงที่การระบาดรอบใหม่จะมีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม การระบาดก็จะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในส่วนของโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ สปสช.ได้วัคซีนเร็ว ทำให้สามารถฉีดได้เร็วก่อนฤดูระบาด เป้าหมายปีนี้ต้องการให้กลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนมากที่สุด อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณวัคซีนที่ได้รับงบประมาณให้จัดซื้อในปีนี้จะมากกว่าปีก่อนแต่ก็ยังไม่เต็มจำนวนกลุ่มเสี่ยง ถือว่ามีจำกัด ดังนั้นการให้บริการคือมาก่อนได้ก่อน ดังนั้นอยากให้กลุ่มเสี่ยงทุกคนรีบออกมารับวัคซีนให้เร็วที่สุด" นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวย้ำว่า ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดนี้ การได้รับวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแม้จะมีอาการโรคทางเดินหายใจเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้นปีนี้อยากสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์รีบไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกคนด้วย ขณะเดียวกัน ฝากถึงหน่วยบริการว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วขอให้บันทึกข้อมูลเข้าระบบโดยเร็ว เพราะจะมีผลระยะยาวในการเป็นข้อมูลสำหรับต่อรองของบประมาณจัดซื้อวัคซีนเพิ่มในอนาคต
ด้าน ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้ การติดต่อของโรคไม่ต่างจากโควิด-19 ส่วนรูปแบบการระบาดในเมืองไทยจะสามารถพบไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดปีแต่จะมีช่วงพีคในฤดูฝน
"ปีก่อนการระบาดในเมืองไทยมีไม่น้อย แต่ปีนี้มีการรณรงค์ป้องกันโควิด-19 ในเดือน ก.พ.-เม.ย. พบว่าเคสผู้ป่วย Influenza-like illness (ILI) ลดลงแบบมีนัยยะสำคัญและในคลินิกที่ทำการเก็บข้อมูลไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เลย เชื่อว่าปีนี้อุบัติการณ์ไข้หวัดใหญ่น่าจะน้อยลงกว่าปีก่อน แต่ก็ยังแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงไปฉีดวัคซีนก่อนช่วงฤดูฝนคือเดือน มิ.ย. โดยเฉพาะการให้วัคซีนในผู้สูงอายุมีความจำเป็นมาก เพราะถ้าป่วยแล้วลงปอดก็มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้" ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง ย้ำว่า ในส่วนของข้อมูลที่แชร์กันมาทางโซเชียลมีเดียว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่นั้น ต้องเข้าใจว่าไวรัสทั้ง 2 ชนิดอยู่คนละกลุ่ม วัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอื่นมากเช่นกัน
ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปีนี้ (63) สปสช.จัดซื้อวัคซีน 4 ล้านโดส รวมเป็นเงินประมาณ 450 ล้านบาท สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง คือ หญิงมีครรภ์, เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, ผู้พิการทางสมอง, ผู้ป่วยธาลัสซีเมียและผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มที่มีน้ำหนักเกิน 100 กก.
ส่วนการให้วัคซีนสามารถแบ่งเป็น 2 พื้นที่ใหญ่ๆ คือ กทม. และต่างจังหวัด ในต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีรายชื่อกลุ่มเสี่ยงที่สามารถเรียกไปฉีดวัคซีนได้อยู่แล้ว แต่ใน กทม. มีการเคลื่อนไหวของประชากรสูงมาก จึงมีระบบช่วยดำเนินการให้วัคซีน 2 ระบบคือ 1.ประสานที่สายด่วน 1330 และ 2.ลงทะเบียนจองคิวนัดหมายผ่านแอปพลิเคชัน หรือ แอดไลน์ "@UCBKK สปสช.สร้างสุข" โดยกลุ่มเสี่ยงสามารถรับวัคซีนได้ทุกสิทธิไม่ว่าเป็นบัตรทอง ประกันสังคมหรือข้าราชการ