นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาล ได้มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 400-425 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ซึ่งสร้างความสับสนและความกังวลใจต่อทุกภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนทั่วไป (มีความเป็นห่วงว่าค่าครองชีพจะสูงขึ้น) ต่างมีเสียงสะท้อนแสดงความไม่เห็นด้วย จนมีการตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมและความถูกต้องถึงวิธีการที่ได้มาของการใช้อัตราค่าจ้างตามกระแสข่าว
จากเหตุดังกล่าว หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากสมาชิกทั่วประเทศ ผลการสำรวจเป็นการยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ร้อยละ 93.9 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 400 บาทต่อวัน ตามกระแสข่าว
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงขอนำเสนอข้อคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล เรื่อง อัตราค่าจ้าง ดังนี้
1) การปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ควรยึดตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยผ่านกลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ควรมาจากการสรรหาที่แท้จริง และควรเป็นองค์กรอิสระที่สามารถดำเนินการพิจารณาตามหลักเกณฑ์
นอกจากนี้ ขอให้ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)
2) การปรับอัตราค่าจ้างโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดในอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลควรมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติก่อนที่จะมีการพิจารณาประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างทุกครั้ง
3) การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท และสงครามการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น
4) การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงโดยทันที จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบ และทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีจำนวน 3,046,793 ราย โดยปี 2560 สร้างมูลค่าให้ประเทศ 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.4 ของสัดส่วน GDP ทั้งประเทศ (ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.) เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานเดิม พนักงานรายเดือน กลุ่มพนักงานราชการ และพนักงานของรัฐในตำแหน่งต่าง ๆ ด้วย
5) การปรับอัตราค่าจ้างที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตาม (เนื่องจากมีการใช้แรงงานในทุกห่วงโซ่ของเศรษฐกิจ)
6) การปรับค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้กระทรวงแรงงาน เร่งส่งเสริมการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นให้ครบทุกอุตสาหกรรม (ปัจจุบันมี 241 สาขา)
7) รัฐบาลควรเร่งกำหนดใช้ “อัตราค่าจ้างแรกเข้า” ในการประกาศใช้อัตราค่าจ้างครั้งต่อไปแทน “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ทันที ตามนโยบายเร่งด่วนเรื่อง การยกระดับศักยภาพของแรงงาน และควรกำหนดนิยามของ “อัตราค่าจ้างแรกเข้า” ที่ชัดเจน
หลังจากกำหนดใช้อัตราค่าจ้างแรกเข้าแล้ว กระทรวงแรงงานต้องเร่งจัดทำโครงสร้างกระบอกเงินเดือนมาตรฐาน ที่สัมพันธ์กับค่าจ้างแรกเข้าของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแต่ละภาคส่วนที่ใช้แรงงาน และส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถนำไปใช้ปรับค่าจ้างประจำปีให้เหมาะสมกับการจ้างงานได้
8) รัฐบาลควรส่งเสริม การจัดอบรม และมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill Re-Skill และ New-Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานเพื่อมุ่งไปสู่การปรับค่าจ้างตามโครงสร้างกระบอกเงินเดือน
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาชิกผู้ประกอบการทุกจังหวัดทั่วประเทศ เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพของแรงงาน รวมทั้งรายได้ของแรงงาน เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของภาคผู้ใช้แรงงานทั้งหมด การปรับขึ้นค่าจ้างควรคำนึงถึง ทักษะฝีมือแรงงาน สภาพเศรษฐกิจ อัตราค่าครองชีพ ยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดเป็นสำคัญ และควรเป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เตือนรัฐบาลรอบคอบ
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่และความสามารถในการบริหารประเทศจะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากดำเนินการไปได้ด้วยดีอาจจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และการผ่านงบประมาณปี 2563 โดยในระยะสั้นอยากให้รัฐบาลเน้นกระตุ้นการบริโภค ด้วยการอัดฉีดเงินในระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะอยู่ที่ 80,000 ถึง 100,000 ล้านบาท ส่วนระยะกลางขอให้เน้นแก้โครงสร้างเพิ่มการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และผลักดันการท่องเที่ยว
ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขอให้รัฐบาลศึกษาอย่างรอบคอบ และออกมาในช่วงที่เหมาะสม คือในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง หรือหลังปี 2562 เพราะหากผลักดันในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ไม่คิดว่าจะเป็นผลต่อระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.3% โดยคาดหวังว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 จีดีพีจะขยายตัวมากที่สุด ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 4%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :