วันที่ 22 พ.ย. 2565 ที่ลานหน้าสามย่าน มิตรทาวน์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาค กทม. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานจัดทำนโยบาย กทม. และวทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง จัดกิจกรรม 'ฟัง-คิด-ทำ' นวัตกรรมเปลี่ยนกรุงเทพฯ เพื่อรับทราบปัญหา และข้อเสนอของประชาชนเพื่อมาจัดทำนโยบาย
จุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนแบบมีวุฒิภาวะ โดยจะยึดมั่นใน 3 อุดมการณ์ คือ 1.อุดมการณ์ที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และประชาธิปัตย์จะไม่เปลี่ยน
2.อุดมการณ์ที่จะทำหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ และเพื่อส่วนร่วมไม่ใช่ส่วนตัว
3.อุดมการณ์แห่งความซื่อสัตย์สุจริต ประชาธิปัตย์จะไม่เปลี่ยน และไม่มีวันเปลี่ยน
จุรินทร์ กล่าวอีกว่า นี่คือสิ่งที่ยืนหยัดความเป็นอุดมการณ์ แต่อุดมการณ์นั้นไม่เพียงพอ ตรงนี้จึงเป็นที่มาของประชาธิปัตย์ในวันนี้ และต้องเป็นอุดมการณ์ที่ทันสมัย เพราะโลกมันเปลี่ยน ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยน ประชาธิปัตย์ต้องก้าวให้ทันโลก ก้าวให้ทันความคิดเห็นของประชาชนนี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องเดินหน้าไปสู่ความทันสมัย วันนี้คือตัวอย่างที่สะท้อนการก้าวเดินไปสู่ความทันสมัย และยุคใหม่ของประชาชน
จุรินทร์ กล่าวอีกว่า เหตุผลอะไรที่ประชาธิปัตย์ต้องฟังเพิ่ม คิดเพิ่ม และทำเพิ่ม เพราะโลกมันเปลี่ยน ปัญหาเปลี่ยน และไม่ได้เปลี่ยนแค่มิติเดียว แต่มันเปลี่ยนทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ อีกทั้งมิติทางด้านการสื่อสาร และตนเพิ่งเสร็จจากประชุมเอเปค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ สิ่งหนึ่งที่เราพูดกันคือ ความเปลี่ยนแปลงของโลก
สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ การแบ่งขั้วเลือกข้างในโลกปัจจุบันที่ประชาธิปัตย์จะต้องฟังเสียงประชาชน และเข้าใจสิ่งนี้ เราจะยืนอยู่ตรงไหนท่ามกลางเขาควาย ท่ามกลางการบังคับแบ่งขั้วเลือกข้าง เพราะประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสังคมโลก อีกทั้งตลอดการประชุมเอเปค สิ่งหนึ่งที่พูดกันคือ การค้าการลงทุนที่จะไม่เหมือนเดิม แต่ต้องเป็นการค้าการลงทุนที่ควบคู่ไปกับความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน
เฉลิมชัย กล่าวว่า มาวันนี้ต้องพูดความจริง เมื่อไปถามเด็กรุ่นใหม่ว่ารู้สึกอย่างไรกับพรรคประชาธิปัตย์ ทุกคนตอบไม่ต่างกันเท่าไหร่คือ ไม่โอเค เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องเรียนว่า มันมี 2 อย่างที่จะต้องควบคู่คือ โอกาสของทุกคนที่อยู่ในประชาธิปัตย์ และความคาดหวังให้พี่น้องประชาชนทั้งในพรรค และนอกพรรค นั่นคือสิ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ประชาธิปัตย์วันนี้ สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ และจะอยู่ตลอดไป คือความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหาร แต่สิ่งนี้จะอยู่คู่กับพรรคประชาธิปัตย์ และจะนำการเปลี่ยนแปลงให้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้อยู่คู่กับการเมืองไทยเป็นอีกร้อยๆ ปี
ขณะที่ องอาจ ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นได้ว่า นโยบายแต่ละเรื่องที่นำเสนอแก่พี่น้องประชาชนเกิดจากกระบวนการฟังอย่างต่อเนื่อง นโยบายต่างๆ ที่ผ่านมา เป็นผลผลิตของประชาชน เพราะเชื่อว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราจึงเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการฟังอย่างต่อเนื่อง
องอาจ กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา เราไม่มี ส.ส. แม้แต่คนเดียวในกรุงเทพฯ แน่นอนเรารู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานให้พี่น้องประชาชนแต่ไม่เสียกำลังใจ สิ่งที่เป็นตัวอย่างได้อย่างดีคือ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยความช่วยเหลือ และเยียวยาพี่น้องประชาชน และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เราก็มุ่งหวังว่า นโยบายที่จะนำเสนอแก่ประชาชนจะเป็นนโยบายที่ท่านทั้งหลายพึงพอใจ และสัมผัสได้
ด้าน สุชัชวีร์ กล่าวว่า จากวันที่เปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่สามย่าน มิตรทาวน์ จนถึงวันนี้ยังยึดมั่นในประชาธิปัตย์ สิ่งใดๆ ก็ต้องมีขึ้นมีลง แต่จากนี้ไปเชื่อว่านี่คือโอกาสตามอุดมการณ์ของเราที่จะทำเพื่อพี่น้องประชาชน ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแทบทุกวัน สังคม ความคิด และเศรษฐกิจเปลี่ยน จุดเริ่มต้นของการ 'ฟัง คิด ทำ' เราจะไปฟังถึงที่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราจะไปพบทุกท่าน
สุชัชวีร์ เสริมว่า นี่เป็นการเดินทางอีกครั้งของตัวเอง แต่กระบวนการสำคัญคือ การนำการรับฟังมากลั่นกรองเป็นนโยบาย และพบว่าเป็นพรรคที่ชอบตั้งคำถามว่า "สุดท้ายจะทำได้จริงไหม" วันนี้ความคิดหรือมันสมองจะไม่ได้มาตนเอง แต่จะมาจากมันสมองของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองอย่าง วทันยา กล่าวว่า วันนี้ได้มาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เต็มตัว และถามว่าทำไมต้องพรรคประชาธิปัตย์ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกระแสความนิยม ตนมองเห็นคุณค่าอย่างหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์คือ ความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ 76 ปี ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้พิสูจน์มาแล้วว่าเติบโตมาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
วทันยา กล่าวว่า 76 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ยังสามารถทำตัวเองให้ทันต่อสมัย และเวลา นั่นหมายความว่า สถาบันของพรรคการเมืองย่อมอยู่เหนือตัวบุคคล และพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีเจ้าของ แต่ประชาชนคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง นั่นจึงเป็นที่มาของแคมเปญ 'ฟัง คิด ทำ' ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องดีที่พรรคการเมืองต่างมาขับเคี่ยวนโยบาย ทุกคนเอาแต่พูดว่า อยากทำอะไร แต่ไม่มีใครฟังเสียงประชาชนว่าอยากได้อะไร
วทันยา กล่าวว่า กว่าทศวรรษที่เราติดวังวนการเมือง ทำให้ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ จากเสือตัวที่ 5 ไปจนถึงเสือตัวที่ 6 ก็จะไม่ได้เป็น เพราะตอนนี้ มาเลเซีย แซงประเทศไทยไปแล้ว นอกจากเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็มีเรื่องปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยต้องเผชิญหน้า