ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลชูแผน 'พีดีพี2018' ผลักดันเศรษฐกิจไทยยุค 4.0 สนับสนุนทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ขณะต่างชาติเห็นโอกาสลงทุน แต่หวังกฎหมายที่ดีขึ้น

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 หรือ Conference of the Parties ครั้งที่ 21 (COP21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ร่วมลงนามแสดงเจตจำนงในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศลงร้อยละ 20 - 25 ภายในปี 2573 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายร่วมในการจำกัดระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เกินระดับ 2 องศาองเซลเซียสจากระดับก่อนยุคพัฒนาอุตสาหกรรม

เมื่อแปลความหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 หมายความว่าประเทศไทยที่มีตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบ (Mt-CO2eq) ในปี 2552 ต้องลดตัวเลขลงมาแตะราว 111 – 139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบ (Mt-CO2eq) ภายในปี 2573

รูปธรรมของคำสัญญา

5 ภาคส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยประกอบไปด้วย (1) ภาคพลังงาน (2) ภาคอุตสาหกรรม (3) ภาคคมนาคมขนส่ง (4) ภาคการจัดการของเสีย (5) ภาคการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ ซึ่งการจะลดตัวเลขการปล่อยก๊าซข้างต้นจำเป็นต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน เช่น การมุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การผลักดันเรื่องการขนส่งทางราง การขจัดการบุกรุกป่า และการทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของทั้ง 5 ภาคส่วนข้างต้น จะพบว่า ภาคพลังงาน มีความสัมพันธ์และกลายเป็นจุดร่วมของทุกภาคส่วน เพราะทั้งอุตสาหกรรม การขนส่ง การกำจัดของเสีย หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้ จะไม่สามารถดำเนินการได้หากปราศจากพลังงาน

โรงไฟฟ้า.jpg

เมื่อหันกลับมาดูตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยใน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 พบว่า ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 46,090 เมกะวัตต์ โดยยังเป็นการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก โดยมีพลังงานหมุนเวียนเพียง 10,949 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 23.8 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตามแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561 - 2580 หรือ Power Development Plan (PDP2018) จะส่งผลให้ภายในปี 2580 ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 เป็น 77,211 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนมาจากการใช้พลังงานทดแทนที่ 20,766 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

‘ต่างชาติ’ หวังกฎหมายเหมาะสม เมิน ‘เงินช่วยเหลือ’

แนวโน้มของนักลงทุนในต่างประเทศมีการเปลี่ยนผ่านไปยังอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสทางการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่

ทั้งนี้ ภาคเอกชนต่างประเทศมองเห็นถึงศักยภาพในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ อาทิ แผงโซลาร์ ค่อนข้างสูง 'แดเนียล กาฟเคอ' ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เบวารี ประจำประเทศไทย (BayWe r.e.) กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโครงการพลังงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์

ENERGY

อีกทั้งตลาดพาณิชย์ในประเทศไทยตอนนี้กำลังขยายตัว ทั้งในแง่อุตสาหกรรมและโรงงาน รวมทั้งในแง่ของภาคประชาชน ที่มีโครงการโซลาร์ประชาชนที่กระทรวงพลังงานให้ความหวังว่าจะสามารถช่วยประเทศผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 100 เมกะวัตต์/ปี โดยมีระยะเวลา 10 ปี จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีที่ให้นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนได้

แดเนียล เสริมว่า ด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานสะอาดอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินสมทบจากรัฐบาลอีกต่อไป แต่สิ่งที่บริษัทต่างชาติกำลังมองหาคือกฎหมายที่เหมาะสมต่อการลงทุนและตลาดการแข่งขันที่มีความเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องใส่ใจให้มากขึ้น


"เราไม่ต้องการเงินสมทบอีกต่อไป เราต้องการกฏหมายที่เหมาะสม และสนามการแข่งขันที่เป็นธรรม" เดเนียล กล่าว


นอกจากนี้ แดเนียล ชี้ว่า ในอุตสาหกรรมพลังงานเดิมยังมีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน และยังนับเป็นพลังงานที่เชื่อถือได้มากกว่าพลังงานสะอาดหลัก อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ที่มีข้อจำกัดในเรื่องสภาพอากาศ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างพลังงานทดทนและพลังงานเดิมให้ดี

สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาโครงการใดๆ ของรัฐบาล คือเพื่อตอบโจทย์การเป็นอยู่ของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสุขภาวะ พลังงานสะอาดเป็นคำตอบที่ชัดเจนของโจทย์นี้ แต่วิธีการประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นมาตรการที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตประชาชนได้จริงไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจนขนาดนั้นและรัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่