ไม่พบผลการค้นหา
ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 11 ครั้งที่ผ่านมา เรียกได้ว่าแทบไม่มีครั้งไหนที่สร้างปรากฎการณ์ ‘แลนด์สไลด์’ อันส่งผลให้เป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างได้เท่ากับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อ 22 พ.ค.2565 ก่อให้เกิดข้อคิดเห็นและข้อสันนิษฐานที่ว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้จะส่งผลต่อภาพรวมการเมืองไทย และการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นไม่เกินปีหน้าอย่างไร

รายการ 101 Public Forum จัดการเสวนาว่าด้วยประเด็น การบ้าน-การเมือง ของผู้ว่าฯ กทม. (25 พ.ค.65) หนึ่งในผู้อภิปรายคือ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีมุมมองต่อเรื่องนี้ สรุปความได้ดังนี้

คะแนน ‘ชัชชาติ’ มาจากแม่น้ำ 3 สาย ปะทะ ลำธาร 1 สาย 

สิริพรรณ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นการปักหมุดของผู้ว่าราชการที่มีจาการเลือกตั้งของประชาชนครั้งแรกในรอบ 9 ปี คะแนนเสียงของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถือว่าเกิน 50% รองจาก พลตรี จำลอง ศรีเมือง และเป็นคนที่ 3 ที่มีคะแนนเกินล้าน ทั้งยังปักหมุดเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีคะแนนสูงที่สุด

ในประเด็นของคะแนนที่ล้นหลามเช่นนี้ สิริพรรณ ให้ความเห็นว่า มาจากการรวมกันของแม่น้ำสาย 3 สาย ที่สู้กับลำธาร 4 สาย

  • แม่น้ำสายแรกคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานเสียงอยู่แล้ว และสามารถชนะการเลือกตั้ง ส.ก.มาได้ถึง 20 ที่นั่ง และมั่นใจได้ว่า คนที่เลือก ส.ก.เพื่อไทย ทั้งหมดต้องเลือกชัชชาติอยู่แล้ว 
  • แม่น้ำสายที่สองคือ พรรคก้าวไกล จะเห็นได้ว่าฐานเสียงก้าวไกลที่เลือก ส.ก.ก้าวไกล แต่ไม่เลือกวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กลับไปเลือกชัชชาติ มีอยู่ถึง 200,000 คน
  • แม่น้ำสายที่สาม อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอนุรักษนิยมกลางๆ เดิมทีไม่มีวันจะเลือกเพื่อไทย และอาจจะไม่ไว้วางใจก้าวไกล แต่กลุ่มนี้ก็ข้ามตะกร้าจากเคยเลือกฝ่ายรัฐบาลมาเลือกชัชชาติ 
  • ส่วนลำธารก็คือ พันธมิตรฯ กปปส. พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ซึ่งเราเห็นความชัดเจนได้จาก ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของทั้ง 4 กลุ่มนี้ที่ออกมาสนับสนุนผู้สมัคร ถึงแม้ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจะพยายามเทคะแนนฝั่งเดียวกันให้เป็นหนึ่งเดียว แต่มันมีถึง 4 กลุ่มจึงไม่สำเร็จ หรือต่อให้สำเร็จก็ยังคงสู้คะแนนของชัชชาติไม่ได้ 

“มันมีทั้งเซอร์ไพรส์ และไม่เซอร์ไพรส์ เชื่อมาตลอดว่า ชัชชาติจะชนะและชนะขาด แต่ไม่ได้คิดว่าคะแนนจะห่างมากขนาดนี้ คิดว่าอันดับสองอาจจะประมาณ 600,000 แต่เมื่อคะแนนออกมาว่าอันดับสอง 254,647 ยอมรับว่าตรงนี้คาดไม่ถึง” สิริพรรณ กล่าว 

ชัชชาติ3.jpg

เดินทุกตรอก-ประกาศตัวเป็นอิสระ แทคติกคว้าใจ ‘ขวากลาง’

สิริพรรณ อธิบายว่าผลลัพธ์เลือกตั้งที่เกิดขึ้นคือการทำงานร่วมกันของฐานเสียงเดิมคือ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้ชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ และชัชชาติเองสมัครในนามอิสระ ซึ่งหากดูตามโพลจะพบว่า คนกทม.ไว้วางใจผู้สมัครอิสระมากกว่า และการประกาศตัวเป็นอิสระได้สลัดการไม่ไว้วางใจพรรคการเมืองออกไป

ชัชชาติมียุทธศาสตร์ประกาศตัวว่าเป็นอิสระ เพื่อที่จะดึงอนุรักษนิยมกลางๆ มาได้ และในอนาคตถ้าจะมีผู้สมัครใช้แทคติกแบบนี้ก็ยังคิดว่าไม่ง่าย ทั้งหมดนี้ต้องให้เครดิตคุณชัชชาติที่เดินทุกตรอก ออกทุกซอย เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ มีประสบการณ์ การวางตัวระหว่างการหาเสียง แม้จะถูกโจมตีก็สามารถครองตัวในการตอบโต้ได้อย่างนุ่มนวล ไม่ขยี้ประเด็น และเอาประเด็นทางการเมืองมาเป็นผลประโยชน์ให้ตัวเอง 

 “คนกรุงเทพฯ จะมองว่า คุณต้องเก่ง โปรไฟล์ดี และอย่าโอ้อวด ซึ่งชัชชาติมีครบทุกองค์ประกอบ จึงได้ใจชาวกรุงเทพฯ ไปเต็มๆ” 

กรณีก่อนโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง มีคนไปถามชัชชาติว่า หากไม่ชนะจะทำอะไรต่อ เขาก็บอกว่า ‘ไม่เล่นการเมือง ไปทำอย่างอื่น อย่าไปคิดว่าจะขาดเราไม่ได้ เราไม่ได้เก่งคนเดียว’ มันเหมือนกับการบอกคนอื่นด้วยว่า มันมีทางเลือกให้กับการเมืองนะ 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตอนที่ชัชชาติปราศรัย เมื่อเห็นผลอย่างไม่เป็นทางการ เขาพูดประโยคแรกคือ นี่ไม่ใช่ชัยชนะ แต่มันคือการรับคำสั่งของประชาชน อีกประเด็นคือมีนักข่าวถามว่า ชัชชาติจะพูดอย่างไรกับคนที่ไม่เลือก ซึ่งเขาก็ตอบว่าจะพูดพร้อมกันทั้งคนเลือกและไม่เลือก ตรงนี้แสดงถึงคุณสมบัติของคุณชัชชาติที่ไม่เอาประเด็นทางการเมืองเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว

“คุณชัชชาติพยายามบอกว่า จะเป็นผู้นำของทุกคน จนถึงตอนนี้ทุกคนจะมีรูปคู่กับคุณชัชชาติ และโพสต์โชว์ไว้ มันเป็นทั้งคุณสมบัติที่ประสานทั้งประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า และอนุรักษนิยมไว้ได้ ซึ่งบุคลิกจริงๆ ของเขาคือ มีความอนุรักษนิยม แต่เข้ามาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย” สิริพรรณ กล่าว 

 
คะแนน ส.ก.

คะแนนส.ก.เพื่อไทย-ก้าวไกลเท่าเดิม ประชาธิปัตย์ได้เพิ่ม เพราะพลังประชารัฐอ่อนแรง 

สิริพรรณ กล่าวว่า เนื่องจากชัยชนะของคุณชัชชาติคือ 1,386,215 คะแนนไม่สามารถเอาไปประเมินความแข็งแกร่งของฐานเสียงพรรคได้ แต่คะแนน ส.ก.ต่างหากที่สะท้อนความแข็งแกร่งของพรรคการเมือง

  • คะแนน ส.ก.เพื่อไทยได้ 26% ซึ่งใกล้เคียงกับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ซึ่งเพื่อไทยส่งไม่ครบ จริงๆ แล้วเพื่อไทยมันก็มีฐานเสียงประมาณ 25-26% ซึ่งเท่ากับคะแนนส.ก.ในครั้งนี้ 
  • คะแนน ส.ก.ก้าวไกลนั้น ได้ฐานเสียงประมาณ 20% ตรงกับอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น)
  • คะแนน ส.ก.ประชาธิปัตย์ แม้ว่าในปี 2562 จะไม่ได้ส.ส.เลย แต่มันคือคะแนน 15% เท่ากันกับการเลือกตั้งครั้งนี้  

“มันจึงเห็นว่า คะแนนส.ก.มันสะท้อนฐานเสียงที่ค่อนข้างนิ่งสำหรับ 3 พรรคหลักนี้ที่มีพื้นที่แข่งขันกันใน กทม.”

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เดิมได้ไป 25% ครั้งนี้ได้แค่ 11% หายไป 14% แต่เราอาจจะมองแบบอะลุ่มอล่วยจะพบว่า ไปอยู่กับกลุ่มรักษ์กรุงเทพ 8% พรรคกล้า 2% จึงอาจอนุมานได้ว่า ฝ่ายค้านมีคะแนนนิยมเพิ่มมา 3-4% รัฐบาลลดไป 4% ส่วนที่ลดลงไปมากคือ พลังประชารัฐ แม้จะได้ ส.ก.มา 2 ที่นั่ง แต่มันเป็นจุดที่ทำให้เราประเมินได้ว่า ความเข้มแข็งของพรรคเมืองอยู่ที่ตรงไหน 

ในแง่ของการกลับมาของพรรคประชาธิปัตย์ สิริพรรณ กล่าวว่า กรุงเทพฯ ชั้นในและฝั่งธน เป็นฐานเสียงหลักของ องอาจ คล้ามไพบูลย์ ถ้ามองแบบนี้เชื่อว่าแนวโน้มของประชาธิปัตย์จะกลับมาทวง ส.ส.ได้ เพราะว่า คะแนนของประชาธิปัตย์ที่หายไปนั้นถูกยืมไปโดยพลังประชารัฐ ซึ่งตอนนี้พลังประชารัฐอ่อนโรยแรง ดังนั้นถ้าคนไม่เลือกส.ส.พลังประชารัฐ แล้วจะไปเลือกใคร เป็นไปได้ว่าจะต้องเลือกประชาธิปัตย์ แต่ก็ขึ้นอยู่ด้วยว่า ประชาธิปัตย์จะปรับองค์กรพรรคอย่างไร ใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เชื่อว่าหลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ประชาธิปัตย์จะกลับมาปะทุ และมีเรื่องเขย่าภายในพรรค

ทั้งนี้ ประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2562 ได้ไป 474,820 คะแนน คิดว่าน่าจะเป็นฐานเสียงของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คะแนนจึงไหลไปหาพลังประชารัฐที่ได้ไป 791,893 ส่วนคะแนนของประชาธิปัตย์ที่ได้ในการเลือกตั้งส.ก. จึงเป็นฐานประชาธิปัตย์ที่เหนียวแน่นไหลกลับมาใหม่

 
อนาคตเลือกตั้งใหญ่ ‘จิตวิทยา-ขวัญกำลังใจ’ ยังไหวไหมผู้สมัคร พปชร.

สิริพรรณ กล่าวว่า การเลือกตั้งของกรุงเทพฯ ไม่สามารถเอามาเป็นโมเดลสำหรับจังหวัดอื่นๆ ได้ทั้งหมด เพราะจริตของคนต่างกัน ความต้องการก็ต่างกันด้วย แต่สิ่งหนึ่งคือ คุณภาพการหาเสียงใช้เป็นบรรทัดฐานได้แน่ๆ อย่างคนทานอาหารคลีน มันแทบจะไม่มีอาหารพิษ ไขมัน หรือสิ่งปลอมแปลงจำนวนมาก ดังนั้นคนดูเสพเข้าไป จะรู้สึกสบายใจ นอนหลับขับถ่ายได้ 

การหาเสียงแบบไม่สาดโคลนทำให้มีผู้ชนะซึ่งได้รับฉันทามติที่ดีได้ แต่มันก็มีส่วนที่ต่างกันกันคือ ในต่างจังหวัด ตัวอย่างที่อยากยกมาคือ การเลือกตั้งปี 62 และปี 54 จะพบว่า ผู้สมัครหาเสียงใน กทม. จะใส่เสื้อเชิ๊ตขาว เรียบง่าย แต่เมื่อออกต่างจังหวัดต้องเป็นชุดข้าราชการ เพราะเป็นความคาดหวังที่ต่างกัน แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ทุกวันนี้ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อผู้สมัครเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า

“สิ่งที่ผลเลือกตั้ง กทม.มันสะท้อนได้แน่ๆ คือ พลังประชารัฐมันอ่อนโรยแรง แต่ในต่างจังหวัดอันนี้ต้องขึ้นอยู่กับบ้านใหญ่ของพลังประชารัฐแต่ละจังหวัด และขึ้นอยู่กับเอกภาพของพลังประชารัฐ การเลือกตั้งใน กทม.มันไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนที่ชัด แต่บอกได้เลยว่า พลังประชารัฐระส่ำระสาย”

สิริพรรณ เสริมว่า พรรคการเมืองที่แข่งกันในกรุงเทพฯ ยังเป็นเพื่อไทย ก้าวไกล และประชาธิปัตย์ แต่ในต่างจังหวัดมีพรรคการเมืองที่มีบ้านใหญ่ เช่น ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา หรือพรรคอื่นๆ อย่างสร้างอนาคตไทย หรือในภาคใต้ก็มีเสรีรวมไทย ดังนั้นการแข่งขันมันเข้มข้นขึ้น

แต่สิ่งที่มีผลที่สุดคือในเรื่องจิตวิทยา ขวัญกำลังใจ ด้วยความที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว ดังนั้น เมื่อคะแนนพลังประชารัฐหายไปค่อนข้างมาก จะเกิดคำถามไปยังผู้สมัครพลังประชารัฐว่า ยังอยากอยู่ภายใต้เสื้อของพรรคๆ นี้หรือเปล่า

 
ยุทธศาสตร์ ‘3 ประการ’ สะท้อนชะตาพรรคเพื่อไทย 

ขณะที่อนาคตของพรรคเพื่อไทยนั้น สิริพรรณ ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่ออกมาเป็นแพคเก็จ อีกประการคือ คุณแพทองธาร ทำให้ฐานดั้งเดิมที่อาจจะคิดโลเลกลับมาเพราะเชื่อมั่นใน ‘ชินวัตร’ และอีกส่วนคือ ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีเรื่องผลงานส่วนบุคคล ต่อให้พรรคคุณดีขนาดไหน แต่ถ้าคุณไม่ทำงาน ไม่ให้ประชาชนเจอเลยก็ยากที่จะได้ 

สิริพรรณ กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยจะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร ปัญหาที่เจอแน่ๆ เลยคือ การตัดคะแนนกันเองกับก้าวไกล การแข่งขันครั้งหน้าจะเข้มข้น และน่าเสียดายมากว่า คุณสมบัติของผู้สมัครจะพ่ายแพ้ในระดับบุคคล พื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงและไม่แน่ใจว่าใครจะชนะ เป็นไปได้ว่า คนที่ประชาชนจะเลือกอาจจะเลือกเพราะกลัวอีกฝั่งเข้ามาแทรก เช่น เขตหลักสี่ ‘สิระ เจนจาคะ’ ชนะเพราะ อนาคตใหม่กับเพื่อไทยตัดคะแนนกันเอง 

สิริพรรณ อธิบายว่า ภาพรวมจะสะท้อนไปกับสูตรเลือกตั้ง ซึ่งพอจะได้ข้อสรุปออกมาแล้วว่า บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะหาร 100 หรือ หาร 500 ก็ค่อยไปว่ากัน แต่ถ้าหาร 500 ก็บอกเลยว่า บิดญัตติของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินไป แต่ก็อาจจะเป็นไปได้เพราะเมืองไทยมันอภินิหารทางกฎหมาย หากเป็นเช่นนี้ เพื่อไทยคงต้องใช้ยุทธศาสตร์ 3 หลักที่จะดึงเสียงคือ

1.ต้องมีนโยบายที่โดนใจ เช่น สามสิบบาทรักษาทุกโรค

“เพื่อไทยในอดีตหากย้อนไปปี 2544 หรือ 2548 มันมีนโยบายที่จับต้องได้ พอมาวันนี้เพื่อไทยจึงไม่ค่อยแคร์คนที่ไม่เลือก เพราะคิดว่ายังไงก็มีคนเลือกอยู่แล้ว”         

2. สำคัญกว่าประการแรก จะเป็นแม่เหล็กที่ตัดสินใจของประชาชน ด้วยความที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ 3 ชื่อ ทำให้เพื่อไทยยืดหยุ่น อาจเสนอชื่อกุนซือทางเศรษฐกิจ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ หรือสัญลักษณ์ของชินวัตร 

3.ในต่างจังหวัดบ้านใหญ่ยังคงสำคัญอยู่ ตอนนี้เราเห็นเลยว่า ‘โทนี่’ มักจะออกมาบ่นว่า พวกบ้านใหญ่ไม่จงรักภักดีหนีหายไป คนเหล่านี้มีฐานเสียงของตัวเอง ตรงนี้พรรคเพื่อไทยต้องเร่งทำและไม่เล่นมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ได้แค่ฐานเสียงเดิม แต่ยังไม่สามารถขยายฐานเสียงใหม่ๆ 


จับจุดยืน ‘ก้าวไกล’ อุดมการณ์ชัด ฐานเสียงไม่ขยาย

สิริพรรณ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องตระหนักเหมือนกันว่า สังคมไทยมีความอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง และกรุงเทพฯ อาจจะมากกว่าที่อื่น ดังนั้น มันเหมือนเฉดของสีต่างๆ จากซ้ายไปขวา ต้องประเมิณสถานการณ์ จับอุณหภูมิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งว่าคุณอยู่ตรงไหน กลุ่มเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ในระดับเข้มข้น มีมากน้อยแค่ไหน และคุณอยากเน้นไปที่คนกลุ่มนั้นเพื่อให้พรรคของคุณมีเอกภาพทางความคิด หรือใครก็ได้ที่คิดไม่เหมือนกันทั้งหมด  

สิริพรรณ กล่าวอีกว่า เดิมทีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคสนับสนุนรัฐสวัสดิการ คำถามคือรูปธรรมอยู่ตรงไหน หรือการใช้พื้นที่สภาฯ ในการผลักดันเพศหลากหลาย สุราเสรี ตรงนี้ก้าวไกลทำได้ดี แต่ในแง่ภาพกว้างจุดยืนคือ ถ้าคุณซ้ายสุดโต่ง คุณจะได้ฐานเสียงไม่ได้มาก ก้าวไกลจึงต้องกลับไปทำการบ้าน

ในอีกประเด็นหนึ่ง อาจมีมุมมองว่าก้าวไกลนิ่ง เพราะยังไม่สามารถขยายฐานได้ เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้มาตามนัดเท่าไร ส่วนหนึ่งอาจเพราะการเปลี่ยนผู้นำจาก ‘ธนาธร’ มาเป็น ‘พิธา’ ไหนจะจุดยืนที่ก้าวหน้ามากๆ ของก้าวไกล มันทำให้คนรับได้ไหม แล้วก้าวไกลเป็นพรรคที่เจาะฐานเสียง จุดที่เป็นด่านสำคัญของก้าวไกล คือ สูตรเลือกตั้ง ต่อให้ทำทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าเป็นบัตรสองใบ หาร 100 ไม่ว่าอย่างไรคะแนนก็ลด แต่คิดว่าก้าวไกลก็ยอมรับ แม้ว่าจะแคบลง แต่มันมั่นคงมากขึ้น 

นอกจากนี้ สิริพรรณ เสริมว่า ก้าวไกลยังมีความย้อนแย้งในตัวเองคือ ฐานของพรรรคคือคนชั้นกลาง แต่นโยบายมันมุ่งเน้นไปที่คนชั้นล่าง คนชั้นกลางที่จะยอมมาแบกเสียภาษีเพิ่ม ยอมปรับลดคุณภาพตัวเอง เพื่อโอบอุ้มคนชั้นล่างจะมีมากน้อยเพียงไหน มันเลยเป็นการย้อนแย้ง ไม่เหมือนเพื่อไทยที่ฐานเสียงเขาเป็นคนชนชั้นล่างอยู่แล้ว 

 

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog