ศ.สุจิต บุญบงการ อธิการวิทยาลัยรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และโลกาภิวัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้เขียนหนังสือ "ทหารกับการพัฒนาการเมืองไทย" นำเสนอในการเสวนา “การเมืองกับทหารไทย: เหตุสุดวิสัยหรือความจำเป็น?” เริ่มต้นด้วยการสรุปบทบาทของทหารไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475
ทั้งนี้ ศ.สุจิต กล่าวว่า ตนไม่อาจสรุปให้สั้นและกระชับได้ง่ายๆ เพราะสถานการณ์และปัญหาใหม่ๆ ทางการเมืองเกิดขึ้นตลอดเวลา ด้วยบริบทที่ต่างกรรม ต่างวาระ
ประเด็นแรกที่ ศ.สุจิต หยิบยกมาพูดถึงคือ อะไรที่เป็นตัวผลักดันให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง?
คณะราษฎรไม่ได้มีฐานอำนาจทางการเมืองและทางทหาร พร้อมชี้ว่า การอภิวัฒน์ 2475 สำเร็จได้จากการยินยอมของรัชกาลที่ 7 ที่ไม่อยากให้เสียเลือดเสียเนื้อและคิดตรงกันเปลี่ยนการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้ว แต่สรุปสิ่งผลักดันบทบาททหารต่อการเมืองได้ 3 เรื่องคือ
1.) อุดมการณ์ชาตินิยมในสายตาทหาร ที่ทหารต้องการให้ประเทศมีความเป็นสมัยใหม่และมีความมั่นคง ดูจากการที่ผู้นำทหารเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่ออนาคตของตัวเองค่อนข้างมาก เพราะเป็นทหารหนุ่ม ดังนั้น เป็นไปได้ว่าไม่ได้มีความทะเยอทะยาน แต่เห็นความล้าหลังของระบอบปกครองสยามเวลานั้น บวกกับแนวคิดจากการศึกษาต่่างประเทศ แต่ระยะหลัง ความต้องการให้ประเทศก้าวหน้ามันลดลง แต่ต้องการให้ประเทศเกิดความมั่นคงเข้ามา เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัญหาความไม่สงบของภูมิภาคนี้มีสูง
2.) ตามทฤษฎีตะวันตก คือ ผลประโยชน์ของกองทัพ ครั้งหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ คือ รัฐประหาร 2490 ที่ต้องการยกเกียรติภูมิทหารกลับมา หลังไทยเสี่ยงตกเป็นประเทศเเพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร รวมถึงเผชิญข้อท้าทายว่า ขบวนการเสรีไทย รักชาติและมีเกียรติมากกว่ากองทัพหรือทหาร เมื่อไทยไม่ตกเป็นประเทศแพ้สงครามจากผลงานของขบวนการเสรีไทย แต่ก็ถูกบังคับให้ปรับปรุงกองทัพโดยปลดนายทหารออกจำนวนมาก
3.) ผลประโยชน์ของผู้นำทหารเอง โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2490 มีความขัดแย้งและต่อสู้กันระหว่างทหาร 2 กลุ่ม คือ ฝ่่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ศ.สุจิต กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นความขัดแย้งของผู้นำกองทัพก็มีมาตลอด รวมถึงยุคที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครองอำนาจ มีความพยายามก่อการรัฐประหารหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งคือ หลังเหตการณ์ 14 ต.ค. 2516 กระแสประชาธิปไตยมาแรง ส่งผลต่อทัศนคติผู้นำกองทัพและเป็นเงื่อนไข ที่ทหารไม่สามารถกุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จจึงต้องอาศัยพรรคการเมือง เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ และหลังเหตุการณ์ พ.ค. 2535 จนถึง 2549 กระแสสังคมและในกองทัพยอมรับทหารภายใต้รัฐบาลพลเรือน จากกระแสสูงของประชาธิปไตยเช่นกัน
"14 ตุลา ทุกคนบอกว่า ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่รัฐบาลในช่วง 14 ต.ค. 2516 - 6 ต.ค. 2519 มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายขวาจัด กับสังคมนิยมจัด ตรงกลางก็อ่อนแอไม่สามารถสร้างกลไกที่จะเป็นตัวแทนของคนทั้งหมดในแง่ของการเป็น moderation รัฐบาลเลยปล่อยให้มีการปะทะกัน ระหว่างซ้ายกับขวา อย่างไรก็ตามการปะทะเหล่านั้น มันไม่ได้ทำให้กระแสประชาธิปไตยหายไป" ศ.สุจิต กล่าว
กองทัพ ทหาร รัฐประหาร กับสังคมไทยที่เป็นอนุรักษนิยมชาตินิยม ปฏิบัตินิยม
สำหรับบทบาทกองทัพหวนกลับคืนมา จากการรัฐประหาร 2549 และ 2557 นั้น ศ.สุจิต มองว่า ที่มีกระแสต่อต้านน้อย เพราะวัฒนธรรมของสังคมไทยส่วนใหญ่ยังอยู่กับอนุรักษนิยม ชาตินิยม และปฏิบัตินิยม ซึ่งอนุรักษนิยมในแง่นี้ไม่ได้หมายถึงการไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่อยากเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปและรักษาสถาบันหลักๆ ที่เก่าแก่ไว้ และทหารต้องมาปฏิรูปเพื่อให้มีความชอบธรรมในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ศ.สุจิต ยืนยันด้วยว่า การสร้างประชาธิปไตย ต้องมีความสมดุล ระหว่าง "เสรีภาพกับเสถียรภาพ" ที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว เพราะบางช่วงต้องการเสรีภาพน้อย แต่เสถียรภาพมาก บางช่วงต้องการเสรีภาพมากแต่ต้องการเสถียรภาพน้อย อยู่ที่ผู้มีอำนาจจะกุมสภาพและสร้างสมดุลนี้รวมถึงกองทัพที่เป็นสถาบันหลักด้วย
'สุรชาติ' ชงปฏิรูปกองทัพ สร้างทหารอาชีพ - สร้างฐานประชาธิปไตย
ขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวติดตลกว่า ทหารกับการเมืองไทย เป็นเรื่องมหาเก่า ที่กลายเป็นมหากาพย์
ศ.ดร.สุรชาติ อ้างถึงผลงานของ ศ.ซามูเอ็ล พี. ฮันทิงตัน นักคิดสาขาวิชาการเมืองกับการทหาร ชาวสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Soldier and The State” เจ้าของทฤษฎี Objective Civilian Control ที่มองว่าการสร้างความเป็นมืออาชีพของทหารคือ การแยกทหารออกจากการเมือง โดยยกสมมติฐานที่ว่า "ในสังคมที่ล้าหลัง ทหารจะก้าวหน้า แต่ในสังคมที่ก้าวหน้า ทหารจะล้าหลัง" มาประกอบการตั้งข้อสังเกตกับสังคมไทย
ศ.ดร.สุรชาติ ยืนยันว่า นิยามประชาธิปไตยของทหารไทยกับประชาชนเป็นคนละเรื่องหรือไม่ได้ตรงกัน และหากเทียบพัฒนาการของทหารกับการเมืองแบบประชาธิปไตยของสังคมไทยจะเทียบได้ใกล้เคียงที่สุดคือประเทศเกาหลีเหนือกับเมียนมา ซึ่งก่อนนี้ศึกษาเทียบเคียงกับประเทศในลาตินอเมริกา ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จในการให้ทหารอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนแล้วในปัจจุบัน
ศ.ดร.สุรชาติ เชื่อว่า การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 ไม่ได้เปลี่ยนผ่านสังคมเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นพื้นที่สีเทาหรือแบบพันธุ์ทาง คือ กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย เพราะกองทัพยังอยู่ใต้ผู้นำทหารคนเดิม ไม่ได้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนตามหลักวิชาแต่อย่างใด ซึ่งเห็นว่า ประเทศไทยอาจต้องเปลี่ยนผ่าน 2 จังหวะ โดยคือ จังหวะแรกให้ระบอบเดิมลดลงความเป็นอำนาจนิยมลง ก่อนจะสร้างประชาธิปไตยในจังหวะที่สองของการเปลี่ยนผ่าน
ศ.ดร.สุรชาติ เสนอการจัดวางทหารในระบบการเมืองตามหลักการเปลี่ยนผ่านวิทยา 3 ประเด็นคือ
1.) จะปฏิรูปกองทัพ ก็ต้องปฏิรูปการเมือง และด้านกลับกันคือการจะปฏิรูปการเมืองได้ก็ต้องปฏิรูปกองทัพ
2.) ต้องสร้างฐานประชาธิปไตยจึงจะเปลี่ยนผ่านสังคมได้
3.) ต้องสร้างทหารอาชีพ ซึ่งก็ต้องปฏิรูปกองทัพได้ก่อนด้วย
ทหาร นิยาม "ประชาธิปไตย" แค่การเข้าสู่อำนาจ
รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กองทัพไม่ได้มีเอกภาพหรือแนวคิดเป็นก้อนเดียวกัน เพราะทหารก็มีความหลากหลายเช่นเดียวกับคนในสถาบันหรือกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มีทัศนคติทางการเมืองและความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันอยู่
รศ.ชลิดาภรณ์ ตั้งคำถามว่า ทหารนิยามประชาธิปไตยอย่างไร?
รศ.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า จากการศึกษาของตนเอง ที่เคยพูดคุยกับทหารจำนวนหนึ่ง พบว่า ทหารหรือกองทัพมีความเข้าใจแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ทหารจะมองประชาธิปไตย ในตัวแทน ในการเข้าสู่อำนาจ อย่างเช่น การเลือกตั้ง ขณะที่คนกลุ่มอื่นๆ มองประชาธิปไตยเป็นการมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่เลือกตั้ง แปลว่าพูดกันคนละเรื่อง
รศ.ชลิดาภรณ์ ขณะเดียวกันก็มีผู้นำรัฐบาลที่เป็นพลเรือน ก็มีลักษณะอำนาจนิยมและใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ หรือทั้งพลเรือนและรัฐบาลทหาร ต่างก็ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ ดังนั้น ต้องไม่ให้รัฐบาลพลเรือนดึงทหารมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย และยังมีคำถามที่สังคมตีองให้ความสำคัญ คือ แม้กองทัพไม่ได้ก่อรัฐประหาร แต่ใช้วิธีไม่ทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างเช่น หากประชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ แล้วเรียกกองทัพมาคุมสถานการณ์ แต่กองทัพไม่ยอม จะถือว่าละเมิด หลักการ Civilian control หรือ การควบคุมโดยพลเรือนด้วยหรือไม่
ซึ่งตลอดการเสวนา รศ.ชลิดาภรณ์ ใช้วิธีการในเชิงชวนตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร ว่าควรเป็นอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย ที่สังคมต้องพิจารณากันในปัจจุบันให้ครอบคลุมหลายๆมิติ
'กษิต' ชมออกแบบ รธน.ให้ทหารอยู่ในการเมือง ป้องกันรัฐประหารและนักการเมืองโกง
ศ.สุจิต ชี้ว่า การสร้างประชาธิปไตยต้องมีความสมดุล ระหว่างเสรีภาพกับเสถียรภาพ เพราะบางครั้งสังคมต้องการเสรีภาพน้อยกว่าเสถียรภาพ และคนไทยมีความเป็นอนุรักษนิยม ชาตินิยมและปฏิบัตินิยม ที่เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า จึงยอมรับการรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง แม้กระแสประชาธิปไตนหลัง 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ทหารๆม่สามารถกุมอำนาจเบร็ดเสร็จทางการเมืองได้เหมือก่อนหน้านั้น
รศ.ชลิดาภรณ์ มองว่า รัฐบาลพลเรือนก็มีลักษณะอำนาจนิยมและใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมตั้งคำถามว่า แม้กองทัพไม่ได้ก่อการรัฐประหาร แต่หากไม่ทำตามคำสั่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะถือว่าละเมิดหลักการควบคุมโดยพลเรือนด้วยหรือไม่ และเห็นว่า ทหารอาจมองเพียงว่า มีการเลือกตั้งก็ถือเป็นประชาธิปไตย แต่คนในสังคมมองว่าต้องมีเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมในมิติอื่นๆ ด้วย ดังนั้น นิยามประชาธิปไตยของทหารกับประชาชนจึงไม่ตรงกัน
ศ.สุรชาติ เสนอการจัดวางกองทัพในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยของไทยว่า ต้องปฏิรูปกองทัพซึ่งจะทำไม่ได้ถ้าไม่ปฏิรูปการเมือง และจะปฏิรูปการเมองไม่ได้เช่นกัน หากไม่มีการปฏิรูปกองทัพ ก่อนจะนำมาสู่การสร้างทหารอาชีพ และสร้างฐานประชาธิปไตยเพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมๆทย พร้อมชี้ว่า ทหารกับประชาชนนิยามประชาธิปไตยแตกต่างกันอย่างชัดเจนโดยเทียบพัฒนาการสังคมไทยที่ใกล้เคียงที่สุด คือ เทียบกับประเทศเกาหลีเหนือและเมียนมาร์ ขณะที่ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา ล้วนประสบความสำเร็จในการให้ทหารอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนแล้วในปัจจุบัน
ในช่วงท้ายมีการให้ผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น จากผู้ที่ร่วมวงเวนา
นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศและอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชื่นชมถึงความเฉียยแหลมของผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้ทหารมาอยู่ในการเมือง ทั้งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและเป็น ส.ว.โดตตำแหน่ง เพื่อไม่ต้องมีรัฐประหารอีกและตีกรอบพรรคการเมืองให้อยู่ในร่องในรอยิป้องกันการทุจริตของนักการเมือง ซึ่งชนชั้นกลาง กลุ่มอนุรักษ์นิยมและประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย โดยชี้วัดจากคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคฝ่่ายรัฐบาล แต่ก็มีคำถามว่า ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยและฝ่ายก้าวหน้าจะมีพื้นที่ยืนอยู่ตรงไหน และต้องค้นหาว่าสังคมไทยต้องการเดินๆปในทิศทางนี้ หรือจะดึงดันสังคมประชาะธิปไตยเต็มใบอยู่อีกหรือไม่ด้วย
'เจิมศักดิ์' ติงทหารในระบบการเมืองไม่ยั่งยืน
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.และนักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ ตั้งคำถามว่า การมองว่าคนไทยเป็นลัทธิปฏิบัตินิยม ที่เห็นแต่ประโยขน์เฉพาะหน้าโดยไม่สนใจระบบการเมืองนั้น โดยยอมรับการเอาทหารมาไว้ในระบบการเมืองนั้นจะยั่งยืนหรือไม่ รวมถึงการต้อนเอาพลเรือนมาอยู่ในพรรคทหารอย่างในปัจจุบันนี้ด้วย ขณะเดียวกัน การเสวนาก็เลี่ยงที่จะพูดถึงสถาบันฯ ว่า ทหารมองตัวเองสัมพันธ์กับสถาบันเบื้องสูงอย่างไร ซึ่งการมองกองทัพอาจจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้หมดหรือให้ครอบคลุม พร้อมกันนี้ ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกองทัพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันธ์กับสื่อสารมวลชน ที่กองทัพเคยกุมไว้ทั้งหมดในอดีตเป็นตัวหล่อเลี้ยงระบบอุปถัมภ์และควบคุมความรู้สึกนึกคิดคนในสังคม ซึ่งอาจเชื่อมโยงให้เห็นว่าระยะหลังที่กองทัพจึงโจมตีหรือเล่นงานสื่อมวลชนอย่างหนัก
ศ.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อิสระ แสดงความเห็นถึง อนาคตประชาธิปไตยไทยจากที่เคยเขียนเป็นหนังสือว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างรวมถึงวิถีชีวิตสังคมไทย ซึ่งจะหวังการสร้างประชาธิปไตยกับคนที่ไม่รู้จักประชาธิปไตย คือจะขอให้ทหารเอาประชาธิปไตยมาให้ตัวเองไม่ได้ โดยยืนยันว่า ตัวเองสู้กับทหารมาตั้งแต่ปี 2496 แต่ยังสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ และที่เป็นเช่นนั้นเพราะ สังคมไทยมีทรัพยากรด้านปัญญาน้อย และคนไทยไม่ชอบใช้สมอง หรือไม่เก่งในการใช้ความคิด จึงต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างย่างนานและยังไม่สำเร็จ
'สมชัย' ฟันธงอนาคตมีปฏิวัติอีก แนะทหารถอดเครื่องแบบออกหากเล่นการเมือง
รศ.สมชัย ศรีสุธิยากร ร่วมวงแสดงความเห็น ข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีคิดของตนเกี่ยวกับทหาร รศ.สมชัย กล่าวว่า “อย่างแรก เจตนาของทหารผมยืนยันว่าสิ่งที่ทหารทำ ค่อนไปในทางเจตนาดี หมายความว่าเจตนาในการรักษาสถาบัน รักษาความมั่นคง สงบ เดินหน้าต่อไปได้ ค่อนไปในทาง 100 เปอร์เซ็นต์ใครบอกทหารคิดไม่ดีผมเถียงแทน แม้ว่าจะมีในบางเรื่องเช่น มีผลประโยชน์หรือไม่ ต้องการอำนาจ เรื่องเศรษฐกิจ งบประมาณ อันนั้นมีน้ำหนักน้อยกว่า
2.วิธีการ ไม่คิดว่าเป็นวิธีการที่ดี เพราะหากเจตนาดี จะต้องส่งเสริมให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่คิดว่าเป็นผู้เล่นทางการเมือง
"ผมไม่เชื่อว่าจะไม่มีการปฏิวัติ ถึงเวลาต้องมีอีก ถ้าเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง มันก็อาจจะมีได้อีก ผมไม่ถือเป็นวิธีการที่ดี ในการเดินไปข้างหน้า ทหารควรจะต้องทบทวนวิธีการว่า ถ้าเจตนาที่ดี วิธีการที่ดีคืออะไร ถ้าเป็นทหารอยากจะเล่นการเมือง คุณก็ถอดครื่องแบบ ในระบบที่เท่าเทียมกัน นี่อาจเป็นคำตอบในทางที่ดีที่อาจจะเกิดขึ้นได้”
สมชัย ยังถาม ศ.สุจิต ว่า ยังยืนยันประโยคที่บอกว่า "แสดงว่าฝ่ายทหารเองจำใจเข้ายึดอำนาจ" หรือไม่ และเขียนบทความนี้เมื่อไหร่ ตนเคยคิดแบบนี้ในวันหนึ่ง แต่ถึงวันนี้ ตนไม่คิดอย่างนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง