ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นัดฟังคำสั่งศาลฎีกา กรณีนางบุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร เป็นโจทก์ยื่นคำร้อง ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ให้จำเลยคือกองทัพบก จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์สูงขึ้นกว่าที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาไว้ ในคดีหมายเลขดำที่ พ.1131/2560 จากเหตุการณ์สิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 (มทบ.25) กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกรเสียชีวิตในเรือนจำทหาร จังหวัดสุรินทร์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา เพราะเห็นพ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และเห็นว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ซึ่งกองทัพบกต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นางบุญเรืองฯ เป็นค่าจัดการศพและค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,870,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นวันที่สิบโทกิตติกรฯถึงแก่ความตาย เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะขำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
สำหรับคดีนี้ได้มีการไต่สวนการตายเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2559 โดยศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ว่า “ผู้ตายคือ สิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ตายที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายโดยพลอาสาสมัครสี่นาย (ปกปิดชื่อ) ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” อีกทั้งปรากฎในรายงานการผ่าศพของแพทย์พบว่าภายในศีรษะมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองบวม บริเวณทรวงอกภายในมีกระดูกซี่โครงหัก 2 ซี่ บริเวณปอดมีรอยฟกช้ำที่กลีบปอดซ้าย บริเวณท้องมีของเหลวสีน้ำตาลอยู่ภายในช่องท้องประมาณ 200 มิลลิลิตร กระเพาะอาหารแตก และมีรอยฟกช้ำเล็กน้อยที่บริเวณกลีบซ้ายของตับ
โดยรายงานการชันสูตรพลิกศพสรุปว่าสาเหตุการตายเกิดจาก มีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลอาสาสมัครทั้งสี่นายได้การกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้สิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย อีกทั้งมีพลอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้คุมเรือนจำมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณเรือนจำที่ตนเป็นสิบเวรประจำวัน มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่อหน่วยงานและบุคคลผู้ต้องขัง แต่ได้จงใจสั่งการและร่วมกันกับพลทหารผู้ช่วย ทำร้ายสิบโทกิตติกรฯ โดยทรมานและทารุณโหดร้าย และจงใจไม่แจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการบาดเจ็บของสิบโทกิตติกรฯ และไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ มีพฤติการณ์ข่มขู่ไม่ให้ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในห้องขังเดียวกันช่วยเหลือสิบโทกิตติกรฯ และได้สั่งผู้ต้องขังในห้องขังทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกรฯ ที่นอนไม่ได้สติอยู่ที่พื้นห้องหลายครั้งจนกระทั่งสิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย
ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คำพิพากษาศาลฎีกาถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญให้กับสังคม กรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดขณะปฏิบัติหน้าที่ละเมิดต่อบุคคล รัฐต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น และหลังจากนี้รัฐพึงต้องดำเนินคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดโดยเร็ว มิให้เป็นเยี่ยงอย่างหรือปล่อยให้คนผิดลอยนวล โดยคดีอาญาปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ท. ซึ่งมารดาและญาติของสิบโทกิตติกร น้อมรับคำตัดสินในคดีแพ่งซึ่งถึงที่สุดแล้ว และเรียกร้องให้กองทัพบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่สร้างมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดในการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่มิให้กระทำละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย สิทธิเสรีภาพใด ๆ ของบุคคลหรือประชาชนใดๆ อีก ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่นกรณีสิบโทกิตติกรในอนาคตต่อไป