กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ อำเภอขุนหาญและอำเภอไพรบึง กว่า 300 คน เดินรณรงค์คัดค้านโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ในตัวอำเภอขุนหาญ พร้อมกับยื่นหนังสือข้อเสนอให้กับนายอำเภอขุนหาญ ให้นายอำเภอทำหนังสือถึงบริษัทที่ปรึกษาฯ ในกรณีให้บริษัทไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ซึ่งมีวัตถุดิบอ้อย เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ชาวไร่อ้อย เพราะพื้นที่ซึ่งกำลังผลักดันโครงการนั้นไม่มีความเหมาะสมตามเหตุผลข้างต้น
โดยให้ทางอำเภอประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านดิน น้ำ อากาศและคุณภาพชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ ตลอดจนยื่นหนังสือให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ พร้อมกับยื่นหนังสือถึงตัวแทน 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคเพื่อไทยด้วย
ด้านนายเอกลักษณ์ โพธิสาร อายุ 35 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า วันนี้พี่น้องมาร่วมกันเดินรณรงค์คัดค้านโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในตัวอำเภอขุนหาญโดยมีพี่น้องจากพื้นที่ ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง และตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 300 คน ได้มาร่วมกันเดินรณรงค์โดยมี ใบปลิว ป้ายผ้า และธง เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารให้พี่น้องได้เข้าใจเจตนาในการมาเดินรณรงค์ในครั้งนี้ ซึ่งจากกรณีที่จะมีการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในขอบเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยมีขนาดพื้นที่รวมประมาณ 836 ไร่
ที่ผ่านมา ทางบริษัทที่ปรึกษาได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง โดยชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน จึงมองว่าเป็นกระบวนการไม่รับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และไม่มีความเป็นธรรมต่อพื้น ซึ่งครอบคลุม บ้าน วัด โรงเรียน ประมาณ 41 หมู่บ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนปลูกข้าวหอมมะลิ ทำเกษตรอินทรีย์ ไร่นาสวนผสม และพึ่งพาทรัพยากร ถือได้ว่าเป็นฐานเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ต่อครอบครัว ชุมชน และจังหวัด รวมถึงได้ก่อมลพิษทางอากาศ และบนท้องถนนจากการขนส่ง
ขณะที่ด้านนายธีรพล จิตโสม อายุ 60 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า กล่าวว่า วันนี้ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือต่อทางอำเภอขุนหาญ และได้ยื่นถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคเพื่อไทย เขต 5 และ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน โดยให้ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำอีไอเอ (EIA) ที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม