สังคมอินเทอร์เน็ตของจีนถือได้ว่าเป็นสังคมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประชาชนในประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณร้อยละ 60 หรือประมาณ 800 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรทั่วทุกมุมโลกอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียของจีนนั้นมีมากกว่า 1,000 ล้านคน แม้ว่ารัฐบาลจีนจะปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียจากตะวันตกและให้เอกชนจีนพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับสังคมจีนขึ้น แต่โลกโซเชียลมีเดียของจีนนั้นกลับก้าวไกลและพัฒนาไปไม่น้อยหน้ากว่าแพลตฟอร์มโซเชียลของตะวันตก
'เมืองภูมิ หาญสิริเพชร' พิธีกรรายการวาไรตี้ของจีนและเป็นผู้ที่โลดแล่นอยู่ในโซเชียลมีเดียจีนกล่าวกับวอยซ์ ออนไลน์ว่า 'สังคมจีนเป็นสังคมเปิดที่ปิด' ซึ่งภูมิอธิบายการเป็นสังคมเปิดไว้ว่า แม้ว่าจีนจะมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง แต่โลกโซเชียลของจีนก็เปิดรับสิ่งที่อยู่ในกระแสโซเชียลหรือเรื่องราวที่อยู่ภายนอกแพลตฟอร์มของตนเองตลอด แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบกฎหมายที่ทางรัฐบาลจีนอนุญาตให้มีการเผยแพร่ได้เท่านั้น
"สังคมจีนและวัฒนธรรมจีนเปิดกว้างกว่าที่เราคิด การล้อเลียนทางวัฒนธรรมอาจไม่ทำให้คนจีนหรือ สังคมจีนโกรธ หรือไม่พอใจ แต่สิ่งที่คนจีนไม่ชอบใจเป็นอย่างมาก คือ 'การดูถูก' "
ภูมิกล่าวว่า "ในโลกโซเชียลของจีนประชากรในโซเชียลสามารถทำได้ทุกอย่างตามที่กรอบกฎหมายอนุญาต รวมไปถึงอยู่ในช่องทางที่ทางรัฐบาลจีนอนุญาตด้วยเช่นกัน"
เขาเล่าว่า สังคมจีนและวัฒนธรรมจีนเปิดกว้างกว่าที่เราคิด การล้อเลียนทางวัฒนธรรมอาจไม่ทำให้คนจีน หรือ สังคมจีนโกรธ หรือไม่พอใจ แต่สิ่งที่คนจีนไม่ชอบใจเป็นอย่างมาก คือ 'การดูถูก' ที่ผ่านมาคนจีนและสังคมจีนรับได้หากสังคมภายนอกจะล้อเลียนวัฒนธรรมเล็กๆน้อยๆ การปะทะทางวัฒนธรรมไม่ทำให้คนจีนเกลียดหรือต่อต้านสิ่งนั้นแต่การ 'ดูถูกวัฒนธรรม' นั้นเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความไม่ชอบใจและความไม่พอใจให้กับคนจีนเป็นอย่างมาก
ในกรณีของแบรนด์หรูอย่างดอลเช่ กาบบาน่านั้น 'ภูมิ' ให้ความเห็นว่า คนจีนยอมรับได้กับการล้อเลียนเรื่องวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ แต่สิ่งที่ทำให้สังคมพร้อมใจกันลุกขึ้นมาแบนแบรนด์หรูดังกล่าว คือ คำพูดของดีไซเนอร์สองคนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดังกล่าวที่ออกมาพูดจาเหยียดหยามและดูถูกคนจีนนั้นคือสิ่งที่ทำให้คนจีนไม่พอใจ และลุกขึ้นมาต่อต้านสินค้าของแบรนด์ดังกล่าวเป็นวงกว้าง จนลามไปถึงดาราและนางแบบจีนหลายคนปฏิเสธที่จะร่วมงานกับแบรนด์สินค้าดังกล่าว
และอีกในกรณีหนึ่ง คือ เหตุการเรือล่มที่ภูเก็ต เรื่องดังกล่าวในช่วงเเรกคนจีนมองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นอุบัติเหตุ แต่คำพูดของรองนายกรัฐมนตรีของไทยนั้นกลับสร้างความไม่พอใจให้แก่คนจีนเป็นอย่างมาก จนกระแสในโซเชียลมีเดียจีนได้ลุกลามขยายวงกว้างนำไปสู่การเตือนเรื่องการเข้ามาท่องเที่ยวในไทยของรัฐบาลจีนและจนถึงขั้นคนจีนหลายคนในโลกโซเชียลมีเดียจีนลุกขึ้นมาการประกาศว่าจะไม่มาเที่ยวเมืองไทยอีก
วงการบันเทิงจีนกับอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรจีนกว่าร้อยละ 60 ทำให้โลกของโซเชียลมีเดียเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์และอิทธิพลแก่สังคมจีนเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงเห็นข่าวการควบคุมของสังคมอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลที่เข้มงวดขึ้นในทุกวัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียง บุคคลเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อสังคมโซเชียลมีเดียของจีนสูง
'ภูมิ' กล่าวว่า ดารา หรือ บุคคลที่มีชื่อเสียงในจีนนั้นมีอิทธิพลต่อโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก และการเป็นดาราของจีนนั้นไม่เพียงแต่เป็นคนที่แสดงละครธรรมดาทั่วไป แต่มีอิทธิพลต่อสังคมจีนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในโลกโซเชียลที่พร้อมจะลอกเลียนแบบ หรือ มีพฤติกรรมการบริโภคตามบุคคลที่มีชื่อได้ง่ายและหากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางจีนสามารถจับต้องได้ สิ่งนั้นจะกลายเป็นไวรัล หรือแพร่กระจายและเป็นที่รู้จักของสังคมจีนอย่างรวดเร็วในทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง