ไม่พบผลการค้นหา
กสม. มีมติรับคำร้องกรณีการเหยียดหยาม 'คนอีสาน' ในคลับเฮาส์ ไว้ตรวจสอบ ชี้เข้าข่ายละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ห่วงปัญหาการบูลลี่และการสื่อสารที่สร้างความแตกแยก เตรียมชงข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวว่า ในคราวการประชุม กสม.ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ได้พิจารณาเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์ Clubhouse กระทำการในลักษณะดูถูก เหยียดหยามและด้อยค่าคนอีสาน ซึ่งเป็นกรณีที่นำไปสู่การถกเถียงของสังคมในวงกว้างเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวนอกจากเข้าข่ายละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ยังไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 (1) ซึ่งระบุว่า บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยมิชอบด้วยกฎหมายมิได้ และ (2) บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงหรือลบหลู่เช่นว่านั้น

กรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นการตอกย้ำว่าสังคมไทยมีปัญหาในด้านการตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและการเคารพในความแตกต่างของบุคคลทั้งในทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต

นอกจากนี้ กสม. ยังเห็นว่าปัญหาในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะการสื่อสารที่ลดทอนคุณค่าหรือกระทบกระเทือนจิตใจของผู้อื่น (Bully) และการสื่อสารที่สร้างความแตกแยก (Hate Speech) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมควรให้ความสำคัญและพิจารณาหาแนวทางการป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กสม. จึงมีมติให้ดำเนินการรับคำร้องกรณีการเหยียดหยาม ดูถูกและด้อยค่าคนอีสานไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป 

พร้อมทั้งให้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรอบด้านและมีประสิทธิผล พร้อมทั้งขับเคลื่อนการรณรงค์และเสริมสร้างให้สังคมเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน