วันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากมาตรการการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการการตรวจสอบและปราบปรามบัญชีม้า ซึ่งเป็นช่องทางหลักการหลอกลวงรับเงินของมิจฉาชีพ กระทรวงดีอี ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีผลการดำเนินงานถึง 17 ตุลาคม 2567 ระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,100,000 บัญชี แบ่งเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 559,843 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 324,192 บัญชี
.นายประเสริฐ กล่าวว่า ผลการเร่งรัดปราบปรามปิดบัญชีม้า และจับกุมบัญชีม้าอย่างเข้มข้นดังกล่าว ทำให้มิจฉาชีพได้เปลี่ยนวิธีการการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยใช้วิธีจดทะเบียนนิติบุคคลและนำหลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคาร (บัญชีม้านิติบุคคล) และนำบัญชีม้านิติบุคคลนั้น มาใช้เป็นบัญชีรับเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนหลายคดี รวมถึงนำมาเป็นบัญชีรับเงิน-จ่ายเงินให้กับกลุ่มเว็บพนันออนไลน์อีกด้วย
“ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 พบบัญชีม้าที่เป็นนิติบุคคล จำนวน 602 บัญชี มูลค่าความเสียหายที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงิน ประมาณ 680 ล้านบาท ดังนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกระทรวงดีอี จึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยออนไลน์ดังกล่าว โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พิจารณาการกวดขันการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนบัญชีนิติบุคคลอย่างเข้มงวด โดยเสนอให้เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบกรรมการที่มีชื่อในนิติบุคคลว่าเป็นรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการจับกุมบัญชีม้านิติบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลต่อไป” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ
ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ระหว่างการดำเนินการเพิ่มความเข้มงวดในการจดทะเบียนธุรกิจของนิติบุคคลต่าง เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยจะมีการประชุมหารือร่วมกับ ปปง. ตร. และธนาคาร ในรายละเอียดและวิธีการเชื่อมโยงข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง (HR-03) รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลของกรรมการก่อนรับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล
“ในภาพรวม กระทรวง ดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน เชื่อส่งผลลดความเสียหายในเดือนกันยายนจากคดีออนไลน์ เหลือมูลค่า 1,974 ล้านบาท ถึงแม้จะยังสูงอยู่ แต่ก็ลดลง กว่า 1,500 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกปีนี้ (มค - มิย 67) ที่ความเสียหายเฉลี่ย 3,514 ล้านบาทต่อเดือน ”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์ โดยได้เร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาล และขอให้ประชาชน ยึด “หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน เพื่อเป็นการตัดช่องทางการหลอกลวงของมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อีกทางหนึ่ง และหากพี่น้องประชาชนถูกคุกคามจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์
สามารถแจ้งดำเนินการ ระงับอายัดบัญชีสายด่วน AOC 1441
และแจ้งเบาะแส ข่าวปลอมและอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
หรือที่ Line ID: @antifakenewscenter
และ เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com