ในงานออกแบบชุดนี้ โรเบิร์ตประยุกต์วัสดุกระจก (mirror) เข้ากับเทคนิคเทอร์ราซโซ (terrazzo) เทคนิคงานหินขัดของอิตาลีที่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 จึงเป็นที่มาของคำว่า 'มิราซโซ' ชื่อของคอลเลกชันนี้ ซึ่งโรเบิร์ตออกแบบขึ้นภายหลังการเยือนอิตาลีเป็นครั้งแรกในปี 2018 แล้วกลับมาเยี่ยมพ่อของเขาที่กรุงเทพฯ
การกลับมาไทยครั้งนี้ทำให้เขาได้มองเห็นลวดลายที่คุ้นเคยเหล่านั้นในมุมใหม่ เขาตระหนักได้ว่าศิลปะอิตาลีซ่อนอยู่ในม้านั่งหินราคาถูกซึ่งถูกโบยตีด้วยแดดและฝนของประเทศเขตร้อน ซึ่งเขามองว่ามันคือเทอร์ราซโซแบบไทยๆ
"สิ่งที่ผมพบจากการไปกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด คือการที่ช่างทำม้านั่งเหล่านี้ในไทยคิดเทคนิคเทอร์ราซโซในแบบของตัวเองกันออกมา โดยอยู่บนหลักการเดียวกันกับสิ่งที่ผมเห็นที่อิตาลี
"ในฐานะนักออกแบบ ผมชอบมองหาความสัมพันธ์น่าสนใจที่ก้าวข้ามขอบเขตของชาติและวัฒนธรรม แล้วใช้แนวคิดซึ่งซ้อนทับกันอยู่นั้นมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่
"ผมชอบที่จะมองหาอะไรที่มีความเป็นสากล ก่อนจะตีกรอบเป็นดีไซน์เฉพาะของผมเอง"
โรเบิร์ตให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่าเขาตั้งใจให้งานชุดนี้ถูกจดจำในฐานะงานออกแบบที่เป็นเกียรติแก่ม้านั่งหินต้นแบบในกรุงเทพฯ แต่ก็สามารถมองว่าเป็นงานออกแบบที่สืบสานเทคนิคเทอร์ราซโซของอิตาลีได้ด้วย สำหรับคนที่ไม่เคยเห็นเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ในไทยมาก่อน
"ผมชอบความหลากหลาย (ของม้านั่งหิน) เป็นพิเศษ คุณสามารถพบม้านั่งหินแบบนี้ที่มีรูปร่างและสีสันต่างกันถึง 10 แบบในถนนเส้นเดียวกันเลย"
มิราซโซคอลเลคชัน ประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์สองชุด คือ ม้านั่งและโต๊ะกาแฟไตรมิตร (Traimit Bench and Coffee Table) ซึ่งตั้งชื่อตาม 'วัดไตรมิตร' ที่ที่เขาพบเฟอร์นิเจอร์ข้างทางอันเป็นแรงบันดาลใจให้เขา โต๊ะและเก้าอี้ชุดนี้ทำจากหินอ่อนซึ่งฝังไว้ด้วยกระจกสไตล์เวนิสโบราณ โรเบิร์ตตั้งใจจัดวางให้กระจกกระจุกตัวอยู่กลางโต๊ะในลักษณะเดียวกับลายตารางหมากฮอสบนโต๊ะหินอ่อนที่เขาพบในกรุงเทพฯ งานชุดนี้จะจัดแสดงในงานเน็กต์เลเวล (NEXT LEVEL) อาคาร 718 บรอดเวย์ (718 Broadway) วันที่ 18-24 พฤษภาคม
เฟอร์นิเจอร์อีกชุดหนึ่งคือม้านั่งแฝดสีขาวและดำ ประหนึ่งเป็นแสงและเงา ในชื่อม้านั่งฮารูณ (Haroon Bench) ซึ่งเขาถอดแบบมากจากม้านั่งซึ่งพบบนถนนฝั่งตรงข้ามมัสยิดฮารูณ ในชุดนี้ โรเบิร์ตฝังกระจกขัดด้านซึ่งล้อกับแสงและแสดงขอบกระจกในลักษณะ 3 มิติเมื่อมองจากมุมต่างๆ คล้ายมีร่องลึกเนื่องจากกระจกหลอกตา ทว่าแท้จริงแล้วมีผิวหน้าเรียบเสมอกัน โดยงานชุดนี้จัดแสดงในงานอินไซด์เอาต์ (Inside / Out) ที่โรงแรมวิลเลียมเวล (William Vale Hotel) วันที่ 11-28 พฤษภาคม ซึ่งงานแสดงทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของงานเอ็นวายซีดีไซน์ (NYCxDesign) ประจำปีนี้
สาเหตุที่เลือกนำกระจกมาขับเน้นเทคนิคเทอร์ราซโซนั้น โรเบิร์ตเล่าว่าเป็นความพยายามในการใช้เศษวัสดุอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด เนื่องจากงานออกแบบชุดก่อนๆ ของเขามีกระจกเป็นส่วนประกอบอยู่มาก และเศษเหลือจำนวนไม่น้อยก็ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้เนื่องจากบิ่นหรือมีรอยขูดขีด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยปกติแล้วม้านั่งหินในไทยมักจะพบในพื้นที่กลางแจ้งอย่างสวนเป็นหลัก แต่โรเบิร์ตบอกว่านั่นไม่ใช่ความตั้งใจของเขา การตั้งไว้ภายในหรือภายนอกอาคารไม่ใช่สาระสำคัญทั้งหมด เพราะเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ล้วนมีเรื่องราวซึ่งมีคุณค่าไม่แพ้ประโยชน์ใช้สอยเลย
"สำหรับผม ตำแหน่งที่ตั้งของชิ้นงานไม่ได้สำคัญเท่าสิ่งที่มันนำเสนอ ผมอยากให้ผลงานเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวและนำความรื่นเริงมาสู่ผู้คน โดยส่วนตัวแล้ว การสร้างม้านั่งเหล่านี้เป็นวิธีหนึ่งในการเก็บความทรงจำเปี่ยมสุขจากประเทศไทยกลับมาบ้านที่นิวยอร์กด้วย”