ไม่พบผลการค้นหา
ในวันอังคาร (2 ธ.ค.) จรัล ดิษฐาอภิชัย, ยัน มาร์ฉัล, จรรยา ยิ้มประเสริฐ, และ นิธิวัต วรรณศิริ ผู้ลี้ภัยและนักกิจกรรมไทยในฝรั่งเศส ได้เดินทางไปยังหอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส เพื่อเปิดเอกสารลับของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีไทย และผู้นำสายพลเรือนของคณะราษฎร ซึ่งมีกำหนดให้สามารถเปิดอ่านได้ต่อสาธารณชนในปี 2567 นี้

เอกสารลับดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “เอกสารปรีดี” (Dossier de Pridi) โดยเป็นเอกสารในหมวด “กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจหลัง 1944” ชุด 147QO/215 ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2511 ถึง พ.ค. 2515 อย่างไรก็ดี เอกสารดังกล่าวมิใช่เอกสารส่วนตัวของปรีดี แต่เป็นเอกสารที่เขียนและรวบรวมโดยสถานทูตฝรั่งเศสในไทย แล้วส่งกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศที่กรุงปารีสในปี 2520

เอกสารลับดังกล่าวในช่วงแรกระบุถึงการลี้ภัยของตัวปรีดีเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปรีดีประสบกับเคราะห์กรรมทางการเมืองไทย หลังจากช่วงปี 2492 ภายหลังจากเหตุการณ์กบฎวังหลวง หรือความพยายามยึดอำนาจการปกครองคืนจากคณะรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำคณะยึดอำนาจ โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่เขาอยู่อาศัยในจีน ตลอดจนการกล่าวถึงสถานการณ์การทูตโดยเฉพาะในอินโดจีน ฝรั่งเศส สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และจีนคอมมิวนิสต์

416580458_807567148047875_173744166038431099_n.jpg

ในเอกสารตอนหนึ่งของสถานทูตฝรั่งเศสในไทยระบุว่า ปรีดีพยายามขอทางการการฝรั่งเศส เพื่อลี้ภัยต่อมายังฝรั่งเศสแทนการอยู่จีนต่อ เนื่องจากปรีดีเองไม่ต้องการที่จะให้ตัวเขาเองถูกนำไปใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ เอกสารอ้างว่า ศุขปรีดา พนมยงค์ บุตรชายของปรีดีได้กล่าวว่าบิดาของเขาต่อต้านคอมมิวนิสต์ จดหมายระบุในอีกท่อนหนึ่งว่า ปรีดีกล่าวต่อนักการทูตฝรั่งเศสว่าเขาเป็นนักสังคมนิยม มิใช่คอมมิวนิสต์ 

เอกสารระบุว่าในช่วงนั้นระบุว่า กลุ่มกษัตริย์นิยม อนุรักษนิยม และสถาบันกษัตริย์ไม่มีความไว้วางใจต่อปรีดี และมีแนวโน้มที่จะกล่าวหาปรีดีต่อกรณีการสวรรคตอย่างเป็นปริศนา ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในหลวงรัชกาลที่ 8 โดยเอกสารระบุเป็นการคาดการณ์ว่า การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลอาจเป็นการ “อัตวินิบาตกรรม”

เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสระบุว่า “ผู้นำไทย” ใน “กรุงเทพฯ” มีแนวโน้มจะไม่ไว้ใจฝรั่งเศส จากข้อกล่าวหาว่าฝรั่งเศสอาจสมคบคิดกับจีน เพื่อเข้ายึดพื้นที่อินโดจีนอีกครั้ง 

ทั้งนี้ เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสมีการระบุว่า ทางการฝรั่งเศสพิจารณาอย่างยิ่งต่อการให้ที่ลี้ภัยแก่ปรีดีในประเทศตัวเอง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่มีต่อกรุงเทพฯ ในขณะที่จดหมายระบุว่า ปรีดีแสดงความประสงค์ที่เขาต้องการจะมาอยู่ฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ทางการฝรั่งเศสมีความกังวลต่อท่าทีของ “ผู้นำไทย” ที่จะที่ต่อฝรั่งเศสหากให้สถานที่ลี้ภัยแก่ปรีดี

ทางการฝรั่งเศสพิจารณาว่าปรีดีจะได้สถานที่ลี้ภัยในฝรั่งเศส ต่อเมื่อปรีดีเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนและร่วมกิจกรรมในทางการเมืองไทย ทางการฝรั่งเศสยังมีการพิจารณาจากสุขภาพและช่วงวัยของปรีดีที่ชราลง ตลอดจนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้น ระบุว่าในเอกสารที่ส่งถึงทูตฝรั่งเศสในกรุงปักกิ่งว่า ทางการคอมมิวนิสต์จีนพยายามขัดขวางไม่ให้ฝรั่งเศสติดต่อกับปรีดี ทางการฝรั่งเศสจึงขอให้ทูตฝรั่งเศสไม่ติดต่อกับปรีดีอีกต่อไป นอกจากนี้ ในช่วงของเอกสารก่อนหน้าหน้ายังมีการแสดงความกังวลว่า เอกสารของฝรั่งเศสที่ส่งถึงปรีดีในมณฑลกวางตุ้ง ถูกทางการคอมมิวนิสต์จีนตรวจสอบก่อนถึงมือของปรีดีเอง อย่างไรก็ดี ทางการฝรั่งเศสมองว่าจะเป็นการดีกว่าหากปรีดีลี้ภัยต่อมายังยุโรป (อาจเป็นสวิตเซอร์แลนด์) แทนการอยู่ต่อในจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์

ทั้งนี้ เอกสารระบุว่าผู้นำไทยได้ถามมายังฝรั่งเศสว่าจะให้ปรีดีลี้ภัยต่อมายังฝรั่งเศสหรือไม่ โดยการให้ปรีดีลี้ภัยมายังฝรั่งเศสอาจทำให้ไทยดูมีความเป็นกลางมากขึ้น จากความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกที่มีต่อคอมมิวนิสต์จีน ในขณะที่ไทยยังคงมีปัญหากบฏของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่อีสาน