นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ URL ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการตัดหนึ่งในช่องทางการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่สำคัญของมิจฉาชีพ พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์
ทั้งนี้ จากสถิติการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URL ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ของกระทรวงดีอี ตั้งแต่วันที่ 1-30 ตุลาคม 2567 พบว่า มีการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URL ผิดกฎหมายทุกประเภทแล้ว จำนวน 13,220 รายการ เพิ่มขึ้น 1.36 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ ( 1 – 30 ตุลาคม 2566) ที่มีจำนวน 9,728 รายการ
สำหรับประเภทของ โซเชียลมีเดีย เพจ/URL ที่มีการปิดกั้นในระยะเวลา 1 เดือน ( 1 – 30 ตุลาคม 2567) มีดังนี้
- พนันออนไลน์ จำนวน 2,974 รายการ เพิ่มขึ้น 1.33 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 - 30 ต.ค.66) ที่มีจำนวน 2,236 รายการ
- บิดเบือน/หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 4,884 รายการ ลดลง 0.31 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ ( 1– 30 ต.ค.66) ที่มีจำนวน 7,070 รายการ
- อื่นๆ จำนวน 5,362 รายการ เพิ่มขึ้น 12.71 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 – 30 ต.ค.66) ที่มีจำนวน 422 รายการ
ขณะที่ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URL ผิดกฎหมายทุกประเภทแล้ว จำนวน 150,425 รายการ เพิ่มขึ้น 8.51 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566) ที่มีจำนวน 17,670 รายการ
“กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URL ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติตั้งแต่วันที่ 1-30 ตุลาคม 2567 มีการปิดกั้น URL ผิดกฎหมายรวมทุกประเภทไปแล้วกว่า 13,000 รายการ ซึ่งสถิติที่เพิ่มขึ้นในทุกเดือนนั้น เนื่องจากกระทรวงดีอีได้มีการปรับกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา พร้อมทั้งการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแส ข้อมูลข่าวปลอม เว็บไซต์ผิดกฎหมายผ่านทางสายด่วน 1111” นายประเสริฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวง ดีอี มีความห่วงใยประชาชน ขออย่าหลงเชื่อ ข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน หรือกลโกงของมิจฉาชีพที่หลอกให้เข้าไปลงทุน หรือกดลิงก์แพลตฟอร์มต้องสงสัยภายในโซเชียลมีเดีย เพจ และ URL ผิดกฎหมาย เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สินได้ หรือหากมีการเชื่อ และแชร์ข้อมูลที่อยู่ใน URL ผิดกฎหมายต่อๆกัน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้