ไม่พบผลการค้นหา
หนึ่งสัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. ที่กำลังจะถึงนี้ ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งในการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จะมีการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติขึ้น แม้ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน ถูกคาดการณ์ว่าจะยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีต่อไป

อย่างไรก็ดี ประชาคมโลกและไทยเองไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ที่จะเกิดขึ้นกับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจในการเมืองจีน ผ่านการจัดวางตำแหน่งของนักการเมืองระดับสูงหลายรายได้ ในโอกาสนี้ ‘วอยซ์’ ชวนจับตามองความเปลี่ยนแปลงและทิศทางการเมืองจีนที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ณ กรุงปักกิ่ง


การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนคืออะไร?

การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติ เป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุก 5 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อหารือในประเด็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรค และแต่งตั้งสมาชิกพรรคเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ภายในพรรค เช่น เลขาธิการพรรค และ คณะกรรมการกรมการเมือง เป็นต้น

โดยที่ผ่านมานั้น ผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยทั่วไปจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนด้วย และจะดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมากกว่าข้อจำกัดเดิมที่กำหนดไว้ 2 วาระ หมายความว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน ที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 วาระ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556 สามารถที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปในวาระที่ 3 ได้ตามกฎหมาย และมีแนวโน้มที่เขาจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและเลขาพรรคต่อไป หลังการประชุมพรรคในครั้งนี้ด้วย

แม้ดูเหมือนว่า ตำแหน่งหัวเรือใหญ่อย่างเลขาธิการพรรคจะถูกวางไว้ให้เป็นของสีอย่างแน่นอนแล้ว แต่การประชุมพรรคในครั้งนี้ยังมีนัยสำคัญ ต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์อย่างยิ่ง เนื่องจากไม่เพียงแต่จะมีการเลือกเลขาธิการพรรคเท่านั้น แต่ตำแหน่งสำคัญระดับสูงของพรรคเอง จะถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ในการประชุมแต่ละครั้งด้วยเช่นกัน

สำหรับโครงสร้างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสมาชิกพรรคกว่า 69.7 ล้านคนทั่วประเทศ จากทุกอาชีพตั้งแต่ชาวไร่ ชาวนา ไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย และดารานักแสดง ซึ่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมดคิดเป็นอัตราส่วน 6.86% ของประชากรจีน อย่างไรก็ตาม จากจำนวนดังกล่าว จะมีสมาชิกประมาณ 3,000 คนที่ได้รับเลือกให้อยู่ในสภาประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress)  และมีประมาณ 200 คนเท่านั้น ที่จะได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลาง (Central Committee) ของพรรค จากจำนวนนี้ จะมีสมาชิก 25 คนที่จะได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) และมีเพียง 7 คน จาก 25 คน ที่จะอยู่ในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee)

ด้วยระบบการปกครองที่มีการจัดลำดับเป็นพีระมิดเช่นนี้ กลุ่มคนเหล่านี้เองที่เรียกได้ว่ากุมอำนาจสูงสุดในการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์และภาพรวมการเมืองจีน เพราะแม้ว่าตามหลักการแล้ว คณะกรรมการกลางจะเป็นผู้เลือกสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง แต่ในความเป็นจริงมีผู้วิเคราะห์ว่า ตำแหน่งเหล่านี้ถูกจัดวางไว้ก่อนที่จะมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เสียอีก

 

ใครจะอยู่ ใครจะไป: จับตาการปรับโครงสร้างคณะกรรมาธิการการเมือง

ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีของประเทศจีนคือ หลี่เค่อเฉียง ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2556 โดยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญรองลงมาจากเลขาธิการพรรค นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการจัดการการปกครองสาธารณะ เช่น การวางแผนงบประมาณ หรือ การพัฒนาสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ดี หลี่ในวัย 67 ปี กำลังจะเกษียณอายุในเดือน มี.ค. 2566 ทำให้จำเป็นต้องมีการวางตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยมีการคาดการณ์กันว่า ตำแหน่งนี้อาจตกเป็นของคนใดคนหนึ่งใน 3 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ได้แก่ วังหยาง หูชุนหัว และหลี่เฉียง

วังหยาง เป็นสมาชิกกรรมาธิการกรมการเมืองลำดับที่ 4 และเป็นประธานที่ประชุมที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในจำนวนผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งหมด วังถือเป็นนักการเมืองที่อาวุโสที่สุด อย่างไรก็ตาม วังอาจเสียเปรียบหากพิจารณาว่าเขามีความเกี่ยวข้องกับภาคีเยาวชนคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองทรงอิทธิพลที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับหลี่เค่อเฉียง แต่สูญเสียอำนาจไปในรัฐบาลสีจิ้นผิง

ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า วังได้รับความไว้ใจจากประธานาธิบดีสีมากขึ้นหลังจากการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมาธิการกรมการเมืองด้วยความภักดีในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา นอกจากนี้ วังยังเป็นนักการเมืองที่อายุมากและถูกคาดการณ์ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียงสมัยเดียว ซึ่งในสายตาของสีจิ้นผิงนับเป็นเรื่องดี เนื่องจากเขาจะสามารถจำกัดอำนาจของวังได้

ผู้ท้าชิงอีกคน คือ หูชุนหัว ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ หูถูกมองว่าน่าจับตาเช่นกัน เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัดการปัญหาต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาทางการเกษตรและความยากจนในทิเบต มองโกเลียใน และมณฑลกวางตุ้ง

ปัจจุบันหูมีอายุ 59 ปี ซึ่งอาจมีนัย 2 ประการในสายตาของสี โดยประการแรก สีอาจระมัดระวังตัวหากหูได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากด้วยอายุของหู เขาอาจอยู่ในตำแหน่งได้นานกว่าสี และจะยังครองอำนาจแม้สีหมดวาระลงไปแล้ว แต่ในประการที่สอง หากพิจารณาว่าความอาวุโสเป็นเรื่องสำคัญในระบบการเมืองของจีน การที่หูอายุน้อยกว่าสีถึง 10 ปี ก็ทำให้เขาเป็นนักการเมืองที่ว่านอนสอนง่ายและควบคุมได้ในสายตาของสีเช่นกัน

ท้ายที่สุด หากสีจิ้นผิงมีอำนาจมากพอ ก็อาจทำให้สมาชิกพรรคที่แม้จะมีประสบการณ์ด้อยกว่าคนอื่น แต่มีความภักดีต่อเขาอย่างมาก ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน เช่นในกรณีของ หลี่เฉียง ซึ่งเป็นสมาชิกที่ได้รับความไว้วางใจจากสีอย่างมาก แม้ประวัติการทำงานของเขาจะมีจุดด่างพร้อยจากการบริหารจัดการวิกฤตการณ์โควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์ที่กินเวลากว่า 2 เดือนก็ตาม

นอกจากตำแหน่งสำคัญลำดับต้นๆ อย่างนายกรัฐมนตรีแล้ว สมาชิกทั้ง 25 ของคณะกรรมการกรมการเมืองยังถูกคาดการณ์ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนภายในการประชุมครั้งนี้เช่นกัน โดยมีสมาชิก 5 คนที่คาดการณ์ว่าจะเกษียณอายุ และจำเป็นต้องมีการสับเปลี่ยนตัวนักการเมืองระดับอาวุโสขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน

หลิวเฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงินวัย 70 ปี กำลังจะเกษียณอายุและมีการคาดการณ์ว่าจะถูกแทนที่โดย เหอลี่เฟิง ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ซึ่งเป็นพันธมิตรกับประธานาธิบดีสีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่าหลิวอาจได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านอายุหลังเกษียณออกจากคณะกรรมการกรมการเมืองด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ ซุนชุนหลาน วัย 72 ปี ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกคนเดียวของคณะกรรมการกรมการเมืองที่เป็นผู้หญิงอาจถูกแทนที่โดย เชิ่นอี้ฉิน นักการเมืองหญิงจากกลุ่มชาติพันธุ์ไป่ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมาก

นอกจากนี้ หยางเจี๋ยฉือ นักการทูตอาวุโสที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการนโยบายต่างประเทศวัย 72 ปีเอง กำลังจะเกษียณอายุราชการเช่นเดียวกัน โดยหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถูกมองว่าจะขึ้นดำรงตำแหน่งแทนเขา และท้ายที่สุด สมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองจากสายกองทัพทั้ง 2 คน ได้แก่ จางโย่วเสีย และ ซูฉีเลี่ยง เป็นไปได้ที่จะถูกแทนที่ด้วยพลเรือเอกเหมียวหัว และนายพลหลิวเจิ้นลี่

 

วิกฤติโควิด-19 คือ วิกฤติความชอบธรรมของสีจิ้นผิง

ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกทยอยปลดล็อกมาตรการป้องกันโควิด และเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัส รัฐบาลจีนยังคงมีแนวทางที่แตกต่างออกไปในการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาด โดยในทุกครั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นจะบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ และตรวจคัดกรองประชาชนขนานใหญ่ แม้ว่าวิธีการเหล่านี้จะประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลของจีนลง แต่ในแง่ของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนจีน นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลจีนได้สร้างปัญหาอย่างมาก

ภาคการท่องเที่ยวของจีนซบเซาลงอย่างมาก หลังจีนปิดประเทศไม่ให้นักเดินทางจากต่างชาติเข้าประเทศ ในขณะที่ความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานที่แขวนอยู่บนการตัดสินใจล็อกดาวน์ของรัฐบาล กลับทำให้นักลงทุนจากต่างชาติสูญเสียความมั่นใจในเศรษฐกิจจีนลง นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศอย่างการว่างงานมีเพิ่มสูงขึ้น โดยในปัจจุบันการว่างงานของเยาวชนอยู่ที่ 18.7% คนงานบางส่วนถูกไล่ออก เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางไปทำงานระหว่างเมืองทำได้ยากขึ้น ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้คนในเมืองยานเจียวซึ่งอยู่บริเวณชานเมืองของกรุงปักกิ่ง และได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ที่ทำให้พวกเขาเข้ามาทำงานในปักกิ่งยากขึ้นในแต่ละวัน จนนายจ้างมองว่าพวกเขาไม่สามารถให้ความแน่นอนได้ สถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรัฐบาลจีนอย่างยิ่ง

“มันมีความเป็นไปได้ที่ความล้มเหลวของมาตรการบริหารจัดการโควิด-19 ที่สีอ้างความรับผิดชอบย่างเด็มรูปแบบอาจสร้างอุปสรรคสำคัญให้เขา” ศาสตราจารย์ แมรี่ กาลาเกอร์ นักรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าว “เราไม่รู้แน่ชัดว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะมีลักษณะเป็นอย่างไร การแก้ไขรัฐธรรมนูณในปี 2561 ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าสีจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย แต่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างไรในรายละเอียด”

กาลาเกอร์กล่าวว่า ชนชั้นนำทางการเมืองจีนขณะนี้อยู่ในความแตกแยกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2532 จากสาเหตุต่างๆ ทั้งกรณีโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ รวมไปถึงการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย

“เรารู้ว่ามีการโต้เถียงระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง แต่โชคร้ายที่มันเกิดขึ้นในยุคของสีจิ้นผิง ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาตรงๆ” กาลาเกอร์เสริม อย่างไรก็ตาม กรณีความขัดแย้งนี้เคยปรากฏให้เห็นเล็กน้อยในช่วงที่เซี่ยงไฮ้ตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมืองต่อต้านนโยบายดังกล่าวในช่วงแรกเนื่องจากเชื่อว่าเซี่ยงไฮ้มีศักยภาพและทรัพยากรทางการแพทย์เพียงพอ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวก็ถูกบังคับใช้ในที่สุดหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นก็ตาม

ด้วยลักษณะของการเมืองจีนที่มีความเป็นอำนาจนิยมอย่างยิ่งนี้ ดูเหมือนว่า สีในฐานะผู้นำจีนที่ถูกขนานนามว่าทรงอิทธิพลที่สุดนับตั้งแต่สมัยของเหมาเจ๋อตุง จะยังคงมีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากในการจับวางตัวผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่อำนาจล้นฟ้าของสีไม่ใช่ว่าจะไม่ถูกสั่นคลอนโดยวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในสมัยของเขาเลย 

การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้าจะแสดงให้เห็นถึงสภาวการณ์ในการเมืองจีนหลัง 10 ปีแห่งการครองอำนาจของสี รวมถึงทิศทางที่จีนกำลังจะเดินต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองในภูมิภาคและการเมืองโลก

 

เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/apr/29/china-xi-jinping-zero-covid-lockdown-vaccination

https://www.japantimes.co.jp/news/2022/10/06/asia-pacific/xi-jinping-covid-legacy/?fbclid=IwAR1Tq3sirZG_KLFTIBkXNjFf2i6J6KN0EJBxJCcAiE36S-zhcrBT8LIEh-s

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-63112996

https://www.reuters.com/world/china/chinas-communist-party-leadership-reshuffle-what-look-2022-10-11/

https://edition.cnn.com/2022/10/11/china/china-party-congress-explainer-intl-hnk-mic/index.html

https://multimedia.scmp.com/widgets/china/cpc-primer/