ไม่พบผลการค้นหา
เลือกตั้งอิหร่านทำประชาชนสิ้นหวัง กติกาเอื้อสืบทอดระบอบรัฐศาสนา ส่อโดนสหรัฐฯ คว่ำบาตรเพิ่ม ซ้ำร้ายกระทบเศรษฐกิจตกต่ำ

อิหร่านกำลังมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศ ซึ่งจะมีการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงในวันที่ 18 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น การเลือกตั้งนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลในห้วงเวลาที่ประเทศเผชิญทั้งการระบาดจากโควิด-19 ประกอบกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและค่าเงินผันผวนมานาน การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จึงส่งผลต่ออนาคตทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าเสียงจากประชานในอิหร่านกลับมองอีกมุมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่อาจส่งผลกระทบใดๆ ต่อชีวิตของพวกเขาเลย 


เลือกตั้งที่เหมือนไม่ได้เลือก

ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ปัจจุบันคือ อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ถือเป็นประมุขของประเทศโดยสภาผู้เชี่ยวชาญศาสนาเป็นผู้คัดเลือก มีสถานะเป็นทั้งผู้บัญชาการสูงสุดทางด้านทหาร ศาสนา ความยุติธรรมและสื่อมวลชน ที่สำคัญคือมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งสภาผู้พิทักษ์

อิหร่านมีสภาผู้แทนราษฎรเรียกว่า Majlis มีสมาชิกทั้งหมด 290 คน มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี แม้จะไม่มีวุฒิสภา แต่สมาชิกของสภาผู้แทนฯ ทั้งหมดต้องผ่านการรับรองโดยสภาผู้พิทักษ์ ตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่าน ดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้ มีผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านทั้งหมด 4 คน คือ Abdolnaser Hemmati, Mohzen Rezaei , Amir Hossein Ghazizadeh Hashemi แต่ผู้ที่เป็นได้รับการจับตามองว่าเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งครั้งที่สุดคือ เอ็บราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) อดีตหัวหน้าคณะตุลาการอิหร่าน หนึ่งในบุคคลที่ถูกทางการสหรัฐฯคว่ำบาตร ผู้ที่จงรักภักดีอย่างเหนียวแน่นต่อท่านอยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี และมีแนวนโยบายต่อต้านสหรัฐฯ อย่างแข็งกร้าว ขณะเดียวกัน ไรซี ยังถูกคาดหมายในอนาคตว่า จะได้เป็นทายาททางการเมืองของคาเมเนอี เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอิหร่านต่อจากอยาตุลเลาะห์ คาเมเนอีด้วย

อิหร่าน เลือกตั้ง
  • เอ็บราฮิม ไรซี

แท้จริงแล้วอิหร่านมีผู้สมัครลงแข่งขันประธานาธิบดีจำนวนมาก แต่ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติโดยสภาผู้พิทักษ์ ว่ามีความจงรักภักดีต่อแนวคิดสาธารณรัฐอิสลามหรือไม่และมากเท่าใด ส่งผลให้ผู้ลงสมัครจำนวนมากถูกตัดสิทธิ์เหลือเพียง 4 คนสุดท้าย แม้ตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านมีหน้าที่ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ตัวละครสำคัญของการเมืองอิหร่านนั้นไม่ใช่ประธานาธิบดี หากแต่เป็นผู้นำสูงสุดซึ่งถือเป็นประมุขของประเทศ ประธานาธิบดีจึงเปรียบเสมือนเป็นหุ่นเชิดของระบอบประชาธิปไตยจำแลง ดังนั้นผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจล้นเหลือในการแต่งตั้งสภาผู้พิทักษ์และในทุกขั้นตอนทางการเมือง จึงมีอำนาจในการตัดสินชะตากรรมทุกด้านของประเทศ 


ประชาชนสิ้นหวัง

บีบีซีรายงานบทสัมภาษณ์ของประชาชนในอิหร่านต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เสียงส่วนใหญ่สะท้อนถึงความผิดหวังของกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมและสิ้นหวังที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ 

“ผมจะไม่ไปเลือกตั้งเพราะมันเปล่าประโยชน์ ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีส่วนใหญ่ต้องผ่านการคัดกรองจากสาธารณรัฐอิสลาม” ชายผู้หนึ่งกล่าวถึงเหตุผลที่ไม่ไปเลือกตั้ง

“พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ” ประชาชนนิรนามกล่าวถึงแรงกดดันที่คนส่วนใหญ่กำลังเผชิญ 

ขณะที่ชายผู้หนึ่งเปรียบเปรยการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่ได้เลือกด้วยตนเองว่า "พวกเขาเอากล้วย 5 ผลมาวางแล้วบอกให้เราเลือกผลไม้ที่ต้องการ คุณสะเลือกส้ม 1 ผลจากกล้วย 5 ผลได้อย่างไรกัน"

อิหร่าน เลือกตั้ง


ฝ่ายขวาจ่อชนะ ส่อโดนนานาชาติคว่ำบาตรต่อเนื่อง

ผลสำรวจความนิยมพบว่า 'ไรซี' ได้รับคะแนนนิยมนำหน้าผู้สมัครประธานาธิบดีคนอื่นๆ หลายฝ่ายเชื่อว่า อดีตผู้พิพากษาคนนี้ จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแบบนอนมา ไรซี นับว่าเป็นผู้ที่มีแนวนโยบายต่อต้านสหรัฐฯ อย่างแข็งกร้าวโดยเฉพาะประเด็นนิวเคลียร์ ทั้งยังฝักใฝ่อุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมทางศาสนา กระแสของประชาชนไม่พอใจรัฐบาลเนื่องจากสถานะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และการปกครองแบบรัฐศาสนาอันเข้มงวดทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ไปลงคะแนนใช้สิทธิน้อยที่สุด ทางการอิหร่านคาดการณ์ว่า จะมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งคิดเป็นจำนวนเพียง 40-50% ของประชากรทั้งหมดกว่า 59 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา หากเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึง 73%

ก่อนหน้าวันเปิดหีบ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ได้เรียกร้องให้ชาวอิหร่านออกไปใช้สิทธิกันให้มากที่สุด ทั้งเตือนว่า การที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อย อาจสร้างความอ่อนแอและไร้เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ และจะทำให้อิหร่านต้องถูกกดดันมากขึ้นจากบรรดาชาติศัตรู ทั้งนี้ หากเป็นไปตามคาดหมายที่ว่า 'ไรซี' จะชนะการเลือกตั้ง แน่นอนว่าแนวนโยบายดังกล่าว จะยิ่งซ้ำเติมให้สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำอยู่แล้วย่ำแย่ลงไปอีก

สิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อของสภาพเศรษฐกิจอิหร่านคือข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐ ฯ โดยอิหร่านในสมัยประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rouhani) ตกลงที่จะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการไม่ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ แต่เมื่อปี 2561 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวและเริ่มคว่ำบาตรอีกครั้ง เนื่องจากต้องการหยุดยั้งให้อิหร่านเลิกพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เศรษฐกิจอิหร่านจึงย่ำแย่มาจนถึงปัจจุบัน

“ฉันรู้สึกไม่ดีนักกับอนาคต เราไม่วางแผนเพื่ออนาคต เราใช้ชีวิตแบบวันต่อวันตามสภาพเศรษฐกิจ” หญิงชาวอิหร่านกล่าวถึงผลกระทบของเศรษฐกิจ

ปัจจุบันสหรัฐต้องการรื้อฟื้นข้อตกลงและการเจรจาทั้งสองฝ่าย ประกอบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านครั้งนี้ หนึ่งในผู้สมัครที่นิยมอุดมการณ์สายกลางอย่าง Abdolnaser Hemmati มีจุดยืนที่สนับสนุนการเจรจาและมุ่งฟื้นฟูข้อตกลง แต่กลับมีโอกาสน้อยที่จะคว้าชัยชนะ การเลือกตั้งของอิหร่านจึงเกี่ยวข้องกับความ(สิ้น)หวังทางการเมือง เศรษฐกิจ และจุดยืนบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ 

ที่มา: Reuters , Aljazeera , Aljazeera1 , BBC