เพจบัญชีชื่อ 'FTA Watch' ได้เผยแพร่ข้อความของนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งระบุถึงความเคลื่อนไหวการเข้าร่วมภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดยระบุว่า ในวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะนำรายงานผลดี-ผลเสียการเข้าร่วมภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และให้ ครม. เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคีดังกล่าว เพื่อให้ไทยเข้าร่วมการประชุมความตกลงฯ เดือน ส.ค. 2563 นี้
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า เตือนคณะรัฐมนตรีอย่าใช้ช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19 เห็นชอบเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างไม่รอบคอบตามข้อเสนอของรองนายกฯสมคิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อหลายมาตรการและนโยบายที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาวิกฤติสาธารณสุข ซึ่งจากวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ขณะนี้ ทำให้เห็นว่า ภาครัฐจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ในการกำหนดนโยบายมากพอในการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งการจำกัดการเดินทาง การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอมาตรการเสริมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ด้วยการให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาทบทวนการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศมาดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งหากประเทศไทยเข้าความตกลง CPTPP นโยบายหรือมาตรการที่ว่านี้จะออกไม่ได้ เพราะขัดกับความตกลง หากออกไปก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนักลงทุนต่างประเทศได้
พร้อมกับตั้งคำถามว่า จึงไม่แน่ใจว่า เรื่องเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทราบหรือไม่ หากพิจารณาวาระนี้อย่างไม่รอบคอบ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล เป็นประธานได้เชิญหน่วยงานต่างๆ เข้ามาชี้แจงถึงข้อห่วงกังวลต่อการเข้าร่วม CPTPP โดยมีตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้รายงานต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า กฎกระทรวงที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นพัสดุที่ภาครัฐไทยต้องการส่งเสริมสนับสนุน เช่น บัญชีนวัตกรรม การให้ความช่วยเหลือองค์การเภสัชกรรม ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปต้องยกเลิกทั้งหมดเพราะขัดกับความตกลงฯ
"หากดูสาระของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 เทียบกับบทที่ 15 ของ CPTPP ไม่ได้ขัดกัน แต่ขัดกันที่กฎหมายลูก ที่เป็นประกาศต่างๆ ที่ให้สิทธิพิเศษรัฐวิสาหกิจไทย ในกรณีขององค์การเภสัชกรรม บัญชีนวัตกรรมที่ขึ้นบัญชีให้ผู้ประกอบการที่เป็นคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทั้งยาและเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาเป็นรายบทของความตกลงฯ ว่าเรื่องใดบ้างจะได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งการเจรจาเพื่อเข้าร่วมต้องขอยกเว้นให้ได้ทั้งช่วงเวลาปรับตัว และวงเงินไม่น้อยกว่า มาเลเซียและเวียดนาม อีกทั้งนโยบายของทางกระทรวงการคลังจะเจรจาเฉพาะที่เป็นผลประโยชน์กับไทยเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการไทยไม่พร้อม แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่พัสดุที่ต้องประสานกับผู้ประกอบการต่างชาติก็ไม่พร้อม" น.ส.กรรณิการ์ระบุไว้
หวั่นข้อตกลงส่งผลกระทบเมล็ดพันธุ์พืชราคาสูงขึ้น
รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ ยังกล่าวด้วยว่า ไม่เพียงเท่านั้น หากไทยต้องเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้นจากการต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV1991 แม้กรมวิชาการเกษตรจะสนับสนุนความตกลงดังกล่าว แต่ในที่ประชุมอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้แสดงความกังวลว่า ความตกลงฯ นี้จะทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้น
"เรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์จนทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้น จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรอย่างรุนแรง แต่ผู้ได้รับประโยชน์คือกลุ่มทุนเกษตรยักษ์ใหญ่ที่รัฐบาลหารือขอความเห็นตลอดเวลา ซึ่งเราเกรงว่า การเข้าร่วม CPTPP จะเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลจะให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนใหญ่โดยละทิ้งคนเล็กคนน้อย"
รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า การศึกษาของทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐน้อยเกินไป และมักอ้างว่า จะไปเจรจาผ่อนผันทั้งช่วงเวลาและวงเงิน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขอเข้าร่วมในภายหลัง โอกาสที่จะได้สิทธิ เช่น มาเลเซียและเวียดนามนั้น ยากมาก อีกทั้งไทยก็ถูกจัดให้เป็นประเทศที่สถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเวียดนาม
"รองนายกฯ สมคิดให้สัมภาษณ์ว่าจะไปต่อรองเช่นนั้นเช่นนี้ แต่ไม่เคยให้คำมั่นสัญญากับสังคมไทยว่า ถ้าเจรจาไม่ได้ในประเด็นที่อ่อนไหว จะไม่เข้าร่วม อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่บังคับให้รัฐบาลต้องไปขออนุมัติกรอบเจรจาฯ ต่อรัฐสภา ทำให้สัญญาประชาคมที่รัฐบาลพึงมีต่อประชาชนไม่เกิด หากไปเจรจาไม่ประสบความสำเร็จแต่เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ สังคมไทยก็อาจเห็นการใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาลากให้เห็นชอบเข้าร่วมความตกลง CPTPP นี้อีกก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่สาธารณชนต้องจับตา ขณะที่ทางกระทรวงต่างๆ ก็ควรศึกษาผลกระทบที่จะมีงานในกำกับอย่างรอบด้านเพื่อที่จะได้สามารถท้วงติงรองนายกฯสมคิดเมื่อวาระนี้ เข้าสู่คณะรัฐมนตรี มิเช่นนั้น นี่อาจจะเป็นหนึ่งในผลงานที่ตัดแขนตัดขาการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมไทยรุนแรงที่สุดผลงานหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" รองประธานเอฟทีเอว็อทช์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :