ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ผลักดันนโยบาย BCG สู่การปฏิบัติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG มุ่งสร้างรายได้กระจายไปสู่ประชาชน ทั้ง 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกระจายรายได้สู่ประชาชน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ให้ทั่วถึงเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG” ให้ครอบคลุม 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ โดยจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Thailand Community Big Data : TCD) ที่พัฒนาไว้และทำให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ทุกพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดผลสำเร็จจาก “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” (U2T for BCG and Regional Development) หรือ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” (U2T BCG: University to Tambon) ในปี 2564 ซึ่งให้ผลตอบแทนทางสังคมกว่า 4.75 เท่า หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท จากการจ้างงานมากกว่า 58,000 คน ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 10,088 กิจกรรม ในพื้นที่ 3,000 ตำบล ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยมีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่

1. การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กว่า 15,000 กิจกรรม 

2. การเพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการ Upskill/Reskill ทักษะพื้นฐานที่จำเป็น และทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG เกือบ 70,000 คน 

3. การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จาก 4,500 รายการ 

4. การสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท/เดือน

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นลำดับแรก โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด ตามยุทธศาสตร์ผ่านการประเมินสถานการณ์วางแนวทาง โดยเชื่อว่าการประยุกต์นโยบายเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน ซึ่งสินค้าและบริการของชุมชนต่าง ๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและบริการ การส่งเสริมการขยายและการตลาดทั้งแบบ online/offline การยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ธนกร กล่าว

ทั้งนี้ “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG” มีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรบุคลากรที่มีศักยภาพ ทั้งที่อยู่ในระหว่างการหางาน หรือกำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีการเติบโตและสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น โดยเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนกว่า 98 แห่ง ร่วมกับบัณทิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ ขับเคลื่อนโครงการในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. - ก.ย.นี้ โดยบัณทิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ http://www.u2t.ac.th ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)