ในเวลาที่เศรษฐกิจไทยปี 2562 เพียงผ่านไตรมาสแรก ก็มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.8 ตกลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และภาคส่งออกที่เป็นกำลังสำคัญในเศรษฐกิจไทย ก็มีท่าจะแผ่วลง เนื่องจากปมสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซ้ำเติมการส่งออก กดทับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ที่ยังค้างคามานาน และมีส่วนสำคัญทำให้กำลังซื้อในระดับรากฐานไม่เฟื่องฟูมานาน
'อมรเทพ จาวะลา' ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว ก็ต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจที่หาเสียงกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายรายได้ การประกันราคาพืชผลการเกษตร การประกันรายได้เกษตรกร ค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงการสานต่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยมี 2 เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งรับมือ
หนึ่ง สร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน เพราะต้องไม่ลืมว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ท่ามกลางสงครามการค้าของมหาอำนาจในเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจที่เล็กอย่างเศรษฐกิจไทยนั้นจะตั้งรับอย่างไรกับแรงกระเพื่อมนี้
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตยังมีโอกาส ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็มีส่วนผลักดันให้การผลิตที่เคยอยู่ในจีน ย้ายออกจากจีนไปสู่ประเทศอื่นๆ ซึ่ง รัฐบาลไทยต้องกำหนดทิศทางและตั้งรับให้ทัน ก่อนที่นักลงทุนจะหันไปเลือกลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
"ตอนนี้ เริ่มมีกระแสผลิตนอกจีน เพื่อลดผลกระทบสงครามการค้า ดังนั้น ไทยต้องตั้งรับให้ทัน หาวิธีจูงใจนักลงทุนที่ออกจากจีนให้มาที่ไทย แทนที่จะไปเวียดนาม หรือประเทศอื่นในภูมิภาคนี้"
สอง ทำมาตรการประคองเศรษฐกิจ เพราะต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็ก มีการส่งออกเป็นสำคัญ เมื่อเกิดสงครามการค้า ส่งออกไทยได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งจะทำให้ภาคส่งออกไทยปีนี้มีแนวโน้มติดลบ และกระทบให้เศรษฐกิจภาพใหญ่ชะลอตัว
ดังนั้น การใช้นโยบายการคลังเข้ามาประคองเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็น ในเวลาที่การใช้งบประมาณปี 2563 อาจต้องล่าช้าออกไปจากวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นปฏิทินปีงบประมาณใหม่ตามปกติ
"เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปก็ยังต้องให้ความสำคัญกับการประคองกำลังซื้อระดับล่าง เพราะเรื่องรายได้เกษตรกรที่แผ่ว ชั่วโมงการทำงานของแรงงานไม่ขยับ เป็นปัญหาต่อกำลังซื้อและรายได้ของระดับล่างมานาน ส่วนระดับกลางบนยังพอไปได้ เมื่อดูจากยอดขายรถยนต์ก็ยังโต แม้ช้าบ้างก็ตาม" อมรเทพ กล่าว
'พนันดร อรุณีนิรมาน' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุในบทวิเคราะห์ล่าสุดเรื่อง "ความไม่แน่นอนด้านการเมืองปรับตัวดีขึ้นหลังได้นายกฯ แต่รัฐบาลใหม่ยังคงมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า" ไว้ว่า แม้จะได้นายกฯ คนใหม่จากขั้วการเมืองเดิม แต่สถานการณ์ด้านการเมืองในระยะข้างหน้ายังมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการ ได้แก่
1) เสียง ส.ส. ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน อาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหรือการผ่านร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลมีความยากลำบาก อีกทั้งการที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง ก็อาจทำให้การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคทำได้ยาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอาจไม่มั่นคงในระยะข้างหน้า
อีกทั้ง ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลนับเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับแรกของการประกอบธุรกิจในไทยตามความเห็นของผู้ประกอบการที่ทำการสำรวจโดย WEF ปี 2560-2561
2) การประสานแนวนโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เนื่องจากแต่ละพรรคมีนโยบายที่ต่างกันในช่วงการรณรงค์หาเสียง หรือในบางนโยบาย แม้ว่าจะมีจุดประสงค์คล้ายกัน แต่วิธีการในการดำเนินนโยบายก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการคัดเลือกและประสานผลประโยชน์ของนโยบายจากหลายพรรคจึงไม่ใช่งานที่ง่าย
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในมิติของความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากหลายมาตรการของหลายพรรคการเมืองเป็นนโยบายที่ต้องอาศัยวงเงินงบประมาณขนาดใหญ่และมีแนวโน้มจะเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตรหรือประกันรายได้เกษตรกร การให้เงินกับมารดาที่มีการตั้งครรภ์ การให้เงินดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุที่กำหนด และโครงการบ้านล้านหลัง เป็นต้น
ยังรวมถึงนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงที่อาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยหากมีการปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งอาจทำให้หลายบริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทันและจำเป็นต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะ SMEs ที่มักมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานในระดับสูง
ดังนั้น แม้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แต่ความไม่แน่นอนด้านแนวนโยบายเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการประกอบธุรกิจที่ทำการสำรวจโดย WEF ในปี 2560-2561 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารจึงควรสร้างความชัดเจนด้านนโยบายทางเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เพื่อลดความไม่แน่นอน และยังต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบของนโยบายต่างๆ ก่อนที่จะมีการดำเนินการต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :