ไม่พบผลการค้นหา
'อนุทิน' เข้าประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เผยเตรียมเสนอขยายเวลานั่งรับประทานอาหารในร้านได้ถึง 23.00 น. แต่ยังงดขายแอลกอฮอล์ ขณะยอมรับกังวลการขนส่งวัคซีนโควิด-19 หลังอียูจำกัดห้ามออกนอกสหภาพยุโรป

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือ ศบค. ว่า จะมีการพิจารณาคลายล็อก โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีการรายงานรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและเสนอมาตรการไปยังที่ประชุมศบค. รวมไปถึงเสนอว่ากิจการใดที่จะสามารถผ่อนปรนได้บ้าง หรืออะไรที่สามารถทำได้ก็ต้องรีบทำ ส่วนร้านอาหารจะมีการเสนอให้สามารถนั่งทานที่ร้านได้ถึงเวลา 23.00 น. แต่ยังไม่สามารถจำหน่ายสุราได้

ส่วนความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีนล็อตแรกในเดือนก.พ.นี้ นั้น อนุทิน ระบุว่า ในช่วงนี้จะมีการติดต่อแหล่งผลิตทุกแหล่งก่อน ว่าจะสามารถนำจากแหล่งผลิตใดมาใช้ก่อนได้บ้างก่อนที่จะถึงเดือน มิ.ย. แต่มีขั้นตอนค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องเอกสารและการขึ้นทะเบียน ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้ติดขัด แต่ติดขัดที่ประเทศต้นทาง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ คือสิ่งที่ขณะนี้กังวลอยู่ และทางสหภาพยุโรปหรือ อียู จำกัดการส่งออกวัคซีนไม่ให้ออกนอกเขตสหภาพยุโรป ทั้งนี้ กำลังพยายามเจรจาอยู่ พร้อมยอมรับว่าไทยพยายามทำทุกอย่างไปหมดแล้ว ดังนั้นหากจะเกิดปัญหาก็นอกเหนือการควบคุม 

นอกจากนี้ ย้ำว่า แผนวัคซีนตามปกติ เราจะพร้อมใช้ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ ตามที่ได้มีการสั่งผลิตจากแอสตราเซเนกาไว้


กางแผนคลายล็อกนั่งกินในร้านอาหาร 4 โซน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางที่ ศบค. ชุดเล็ก จะเสนอต่อที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ในการผ่อนคลายจังหวัดต่างๆ ที่สถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายมากขึ้นเเล้ว ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาคร และบางส่วนของ กทม. ทั้งนี้ วางแผนว่าจะนำสถิติของสมุทรสาครแยกออกมารายงานต่างหาก เพราะเมื่อพิจารณาภาพรวมของประเทศแล้ว มีสถิติสูงอยู่ที่เดียวกว่า 98% และเชื่อมั่นว่าอีก 1-2 สัปดาห์ ทั่วประเทศจะมีผู้ติดเชื้อใกล้ 0 

ส่วนร้านอาหาร ยังคง งดการจำหน่ายแอลกอฮอล์ในร้าน ขณะที่ การเปิดให้ลูกค้ามานั่งรับประทานในร้านอาหาร แบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ คือ โซนสีเขียว ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โซนสีเหลือง ได้ถึง 24.00 น. และ โซนสีส้ม ได้ถึง 23.00 น. ส่วนในพื้นที่ควบคุมเข้ม สีแดง ยังไม่อนุญาตให้นั่งทานในร้านได้ 

สำหรับความคืบหน้าการสืบสวนโรคของดีเจมะตูม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เป็นหน้าที่ของ กทม. 

ส่วนการเปิดโรงเรียนก็เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่บุคลากรและทางโรงเรียน จะต้องปฏิบัติตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขให้มากขึ้น



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :