ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ เผยผลวิจัยคอร์รัปชันในกรอบเศรษฐศาสตร์ เปรียบเป็น 'ตลาดบริการ' มีประสิทธิภาพสูง มูลค่าตลาดสูงกว่า 65,000 ล้านบาท ค่าตัวทวีสูง 6.5 เท่า ที่สำคัญมีนวัตกรรมเป็น 'advance economy' แปรรูปผู้ให้บริการจาก 'หน่วยงานรัฐ' เป็น 'เอกชน'

ในการนำเสนองานวิจัย "เมื่อกฎ (หมาย) ขายได้ ตลาดแข่งขันของการคอร์รัปชันในสังคมไทย" โดย นายธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2562 BOT Symposium 2019 ซึ่งหัวข้อสำหรับปีนี้คือ "พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน" ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจคือ การใช้กรอบเศรษฐศาสตร์มองพัฒนาการเปลี่ยนแปลงคอร์รัปชันของสังคมไทย และการแข่งขันในตลาดคอร์รัปชันซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก

นายธานีกล่าวว่า ถ้าจะเข้าใจคอร์รัปชันให้ชัดเจนต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูล Corruption Perceptions Index หรือ CPI เพราะได้รับการยอมรับในระดับโลก โดย CPI แบ่งกิจกรรมคอร์รัปชันเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 

  • การจ่ายสินบน 
  • การยักยอกงบประมาณหรือจ่ายงบประมาณในทางที่ผิด 
  • การใช้อำนาจบิดเบือนช่วยพวกพ้อง สนับสนุนคนที่เป็นพวกของตัวเอง 
  • การใช้สินทรัพย์ราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน รวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อน และการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

จากการศึกษาดูพลวัตรความสนใจเรื่องคอร์รัปชันของสังคมไทยในระยะเวลา 35 ปี (ปี 2526-2560) พบว่าการจ่ายสินบน มีความผันผวนขึ้นลงตามนโยบายรัฐบาลแต่ละชุด การยักยอกงบประมาณสูงตลอดทุกช่วงเวลา การใช้อำนาจโยกย้ายพวกพ้อง เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา และการใช้ทรัพย์สินของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตน เริ่มมีให้เห็นหลังปี 2543 เป็นต้นมา

คอร์รัปชัน-ดร.ธานี ชัยวัฒน์

"หลังปี 2560 พบว่า ความสนใจคอร์รัปชันทั้ง 4 ประเภท สูงขึ้นหมด สะท้อนว่าประเทศไทยไม่มีความเหลื่อมล้ำด้านคอร์รับปชันเลย ซึ่งไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี แต่การดูความสนใจคอร์รัปชันแล้วไปแก้ปัญหา แสดงว่าเรากำลังแก้ปัญหาตามหลัง เพราะคอร์รัปชันเกิดไปแล้ว ความสนใจจึงจะเกิดตามมา ที่สำคัญคอร์รัปชันล้ำหน้าจนเราตามไม่ทัน"


เปิดกรอบมุมมอง เมื่อคอร์รัปชันเป็น 'ธุรกิจบริการ'

สำหรับการใช้กรอบของเศรษฐศาสตร์มองคอร์รัปชัน มีจุดแข็งของกรอบคิดคือการทำความเข้าใจว่าการคอร์รัปชันเป็น "บริการ" ประเภทหนึ่งในสาขาการผลิต พบว่าบริการประเภทนี้มีมูลค่าตลาดอย่างน้อยเกือบ 65,000 ล้านบาทในปี 2557 สูงกว่าปี 2542 ที่มีมูลค่า 35,000 ล้าน หรือเกือบ 2 เท่า หรือมองให้เห็นภาพชัดเจนคือมีขนาดเป็นลำดับที่ 16 จาก 24 สาขาการผลิตทั้งหมด 

หากเปรียบเทียบกับผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดของจังหวัดต่าง ๆ พบว่า มูลค่าของการคอร์รัปชันมีขนาดใกล้เคียงกับจังหวัดเพชรบุรี ลำปาง ชัยภูมิ และมหาสารคาม ซึ่งเป็นจังหวัดกลาง ๆ เหมือนกัน หมายความว่ามูลค่าการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในแต่ละปี สามารถนำมาดูแลประชากรในจังหวัดขนาดกลางได้หนึ่งจังหวัดเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังพบว่า คอร์รัปชันเป็นสาขาการผลิตที่มีค่าตัวทวี (Multiplier) สูงถึง 6.5 เท่า หมายความว่า ถ้าลดคอร์รัปชันลง 1 บาท จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงขึ้นถึง 6.5 เท่า หรือหากแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ จะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหาศาล

"คอร์รัปชันมีมูลค่าค่อนข้างสูง และตัวทวีก็สูงมาก ดังนั้นถ้าลดคอร์รัปชันได้ เศรษฐกิจจะเติบโตได้ค่อนข้างมาก"


สินบน-ดร.ธานี ชัยวัฒน์

ขณะที่ นวัตกรรมคอร์รัปชันของประเทศไทย จากการวิจัยพบว่าสามารถแบ่งตลาดเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนบนซื้อขายกฎหมายได้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง และส่วนล่างต้องทำตามสถาบันทางกฎหมาย เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย จะถูกบังคับซื้อกฎหมาย หมายความว่าส่วนล่างมองว่ากฎหมายเป็นสถาบัน แต่เขากำลังถูกปฏิบัติระหว่างคนรวยกับคนจนไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของสองมาตรฐาน ที่คนหนึ่งเขาถึงได้ และคนหนึ่งเข้าถึงไม่ได้

 "ดังนั้น ด้านบนเป็นตลาดที่ทำงาน ด้านล่างถูกบังคับให้ถูกปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นด้านบนกำลังกลายเป็นผู้ขาย และด้านล่างถูกบังคับซื้อ"


มูลค่าสินบนหน่วยงานรัฐลดลง เพราะถูกแปรรูปให้เอกชนทำ

นอกจากนี้ ถ้าดูมูลค่าของเงินสินบนที่ถูกเรียกเก็บจำแนกตามหน่วยงาน พบว่า ในปี 2557 จำนวนลดลงค่อนข้างมาก โดยหน่วยงานที่ลดลงมากที่สุดคือ ตำรวจ ศุลกากร สรรพากร ที่ดิน ทั้งนี้ สินบนที่ลดลงจากที่มีจำนวนมหาศาลในปี 2542 ไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกแปรรูป (privatize) ไปให้เอกชนเป็นตัวกลางทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ โดยตัวกลางเหล่านั้นได้แก่ ทนาย บริษัทชิปปิ้ง บริษัทรับทำบัญชีหรือรับเคลียร์ภาษี เป็นต้น  


สินบน-ดร.ธานี ชัยวัฒน์

หมายความว่า ตอนนี้คอร์รัปชันไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่ผ่านตัวกลาง และการผ่านตัวกลาง มีข้อดีตรงที่แก้ปัญหา Asymmetric Information ประชาชนไม่ได้จ่ายสินบนโดยตรง เขาจ่ายกับเอกชนทำให้มั่นใจขึ้น ขณะที่ข้าราชการ รัฐ ไม่ได้รับเงินจากใครก็ไม่รู้เต็มไปหมด แต่รับจากคนที่เขาไว้ใจได้ ก็คือบริษัทที่เขาติดต่อกันเป็นปกติ และเป็นตลาดที่มีการแข่งขัน เนื่องจากประชาชนสามารถหาข้อมูลตัวกลางได้มหาศาลทางอินเทอร์เน็ต และมีต้นทุนการเปลี่ยนผู้ให้บริการที่ต่ำ (Switching Cost )

"การ privatization เกิดขึ้นเพราะสินบนจำนวนมหาศาลในยุคแรก แต่ตอนนี้มันหายไปเพราะว่า มีเอกชนเข้ามาจัดการ ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่กระบวนการนี้ให้เห็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับนายทุน ภายใต้ระบอบทุนนิยมที่ชัดเจน และยิ่งทำให้ตลาดบนหรือคนที่เข้าถึงนโยบายรัฐมีความมั่นคั่งมากขึ้น"

นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบอีกว่า รูปแบบธุรกิจคอร์รัปชัน มีลักษณะเป็น Networking Business โดยคนส่วนใหญ่บอกว่ารู้จักคนที่จะเข้าไปติดต่อได้ หรือมี Market Coverage = ร้อยละ 87 ของประเทศไทย และแม้ทุกคนอาจหาคนเคลียร์ไม่ได้ แต่รู้สึกว่าเขารู้จักคนที่นำไปสู่การช่วยเหลือได้ซึ่งเชื่อมโยงกันไปมา รวมทั้งพบว่า คอร์รัปชันยังเป็นธุรกิจ MLM (Multi-level Marketing) ด้วย คือธุรกิจขายตรงที่มีแรงจูงใจในการแบ่งผลประโยชน์ให้หัวหน้าขยายทีมออกไปเรื่อย ๆ และเชื่อมโยงกับคนอื่น นี่คือสิ่งที่เราพบเห็นในความเป็นจริง และมีอยู่ในสังคมไทย


'สินบนไทย' เปลี่ยนจากสภาพบังคับ สู่ความพึงพอใจจะจ่าย

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือสาเหตุของการจ่ายสินบนของสังคมไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างมากจากสภาพบังคับเป็นเพื่อความพอใจบางอย่าง ขณะที่ความคาดหวังต่อการจ่ายเงินคอร์รัปชัน มีความคาดหวังผลลัพธ์สูงมาก และคนที่มีประสบการณ์คอร์รัปชันจริง ส่วนใหญ่บอกว่าจ่ายแล้วพึงพอใจด้วย หมายความว่าประสิทธิภาพในการให้บริการของธุรกิจคอร์รัปชันอยู่ในขั้นดี ถึงดีมาก แต่ถ้าไม่เป็นไปตามคาดหวังก็จะไปร้องเรียนที่ สื่อมวลชน ป.ป.ช. ป.ป.ท. และเว็บไซต์

แปลว่าบริการคอร์รัปชันเป็น Credence Goods คือจ่ายเงินก่อน รู้คุณภาพที่หลัง โดยปกติสินค้าประเภทนี้จะมีกลไกตลาดกำกับคุณภาพ ถ้ากลไกตลาดทำงานไม่ดี ก็จะมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดูแล  


ดร.ธานี ชัยวัฒน์- จุฬา
  • ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ตอนนี้ตลาดคอร์รัปชันจ่ายเงินก่อน ได้ผลลัพธ์ที่หลัง คุณภาพดีด้วย ถ้ากลไกตลาดไม่ทำงาน ก็มีองค์กรสื่อมวลชน และ ป.ป.ช./ป.ป.ท. เป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่กำกับดูแลคุณภาพของบริการการคอร์รัปชันแทนตลาด เพราะฉะนั้นเรื่องที่เข้า ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. จำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่แกล้งกัน ไม่พอใจกัน ไม่เห็นด้วย และเข้าไปร้องเรียนหลังจากเกิดคดีผ่านมาสักระยะหนึ่ง"

นอกจากนี้ ยังพบว่า คอร์รัปชันมีการบูรณาการ (Integration) การผลิตทั้งแนวดิ่งและแนวราบ ผ่านความสัมพันธ์ทางเครือข่ายมีนามสกุลเดียวกัน และเครือข่ายอื่น ๆ ทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ค่อนข้างมาก และพบว่าในปี 2561 คนทั้งรวย กลาง จน คิดว่าหน่วยงานที่จะให้ความช่วยเหลือและบริการเขาเป็นพิเศษ คือ ศาล หมายความว่า บุคคลทุกกลุ่มได้ดึงเอาศาลที่เป็นต้นน้ำที่สุดของกระบวนการคอร์รัปชัน เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการที่ดูแลเขาเป็นพิเศษ และ ป.ป.ช. ที่เคยตกเป็นความคาดหวังบางอย่าง หายไปจากระบบ ส่วน ตำรวจ และสื่อมวลชน ยังอยู่ในชนชั้นกลาง 

"เพราะฉะนั้น คอร์รัปชันในประเทศไทยไม่ใช่มีแค่มีพลวัตร แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก มีการ Privatization (แปรรูป) ให้เอกชนดำเนินการ มีรูปแบบธุรกิจ MLM ที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ มีการให้บริการที่ได้รับ Good Customer Satisfaction ด้วย และมีการบูรณาการการผลิตทั้งแนวดิ่งและแนวราบ หรือกล่าวได้ว่าเราไปไกล ถ้าวัดเศรษฐกิจที่เป็น advance economy ในเรื่องคอร์รัปชัน ผมว่าน่าจะเป็นที่หนึ่งในโลกได้" นายธานี กล่าว