ไม่พบผลการค้นหา
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สนับสนุนแนวคิดตัด 6 ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกจากตำเเหน่ง ส.ว. ชี้ผิดหลักการ ทำลายศรัทธา และขัดผลประโยชน์ระหว่างตำแหน่งและหน้าที่

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา แสดงความเห็นสนับสนุน ข้อเสนอแนะของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ตัด 6 ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกจากตำเเหน่งวุฒิสภา โดยให้เหตุผลประกอบ 7 ข้อ มีรายละเอียดทั้งหมดผ่านเฟซบุ๊กดังนี้ 

ความเห็นของประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ๒ สมัย ที่ได้มีข้อเสนอแนะว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญโดยตัดสมาชิกวุฒิสภา ๖ ตำแหน่งที่มาจากข้าราชการประจำออกไปจากสมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นความเห็นที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่งหากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ทั้งนี้เพราะ

๑) ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่างเป็นข้าราชการประจำ เฉกเช่นเดียวกับปลัดกระทรวงและอธิบดีอื่น ๆ

ข้าราชการประจำ ๖ ตำแหน่งนี้ ไม่ควรทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ ทั้งนี้เพราะเป็นข้าราชการประจำต้องทำตามนโยบายของฝ่ายการเมือง และต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ

การที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ กำหนดให้ข้าราชการประจำเฉพาะ ๖ ตำแหน่งนี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นผลประโยชน์ขัดกันระหว่างตำแหน่งและหน้าที่

๒) การให้ความสำคัญกับ ๖ ตำแหน่งเป็นพิเศษ ย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างและแปลกแยกกับข้าราชการในระดับเดียวกันของกระทรวง ทบวง กรมอื่น ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน และเป็นการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน

๓) การอ้างว่า บุคคลใน ๖ ตำแหน่ง มาอยู่ในวุฒิสภาจะเป็นการป้องกันการทำรัฐประหารก็ฟังไม่ขึ้น เพราะหาก ผบ.เหล่าทัพเหล่านี้จะยึดอำนาจก็สามารถทำได้

ข้ออ้างที่ว่า มาทำหน้าที่ในวุฒิสภาจะได้ชี้แจงกำลังพลให้เข้าใจถูกต้อง ก็ยิ่งฟังไม่ขึ้นเพราะการไม่ได้สวมหมวก ๒ ตำแหน่ง ก็สามารถชี้แจงกำลังพลให้เข้าใจได้อยู่แล้ว

กำลังพลมีสติปัญญาสามารถขวนขวายหาข้อมูลด้วยความรักชาติรักแผ่นดิน โดยไม่ต้องรอจากคน ๖ ตำแหน่งนี้ก็ได้

๔) การให้ข้าราชการ ๖ ตำแหน่ง ดังกล่าวรับเงินเดือน ๒ ทาง ทั้งเงินเดือนของข้าราชการประจำ และเงินเดือนค่าตอบแทนของสมาชิกวุฒิสภาเป็นการไม่เหมาะสม

แล้วยังมีค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วย ส.ว. รวมกัน ๘ คน ต่อ ส.ว.หนึ่งคนอีกด้วย

๕) ประชาชนจะขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่ คสช.อันประกอบไปด้วยบุคคลทั้ง ๖ ตำแหน่งสืบอำนาจไปอยู่ในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา กลับมามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และให้ความเห็นชอบในองค์กรอิสระ จะถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐ โดยรัฐทหาร

๖) รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และ รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้ยึดหลักสำคัญว่าข้าราชการประจำที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร ไม่สมควรไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหาร

จึงได้กำหนดให้ข้าราชการที่ปรารถนาจะลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องลาออกจากราชการเสียก่อน โดยไม่มีข้อยกเว้น ผมเองในฐานะข้าราชการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ยังต้องลาออกก่อนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี ๒๕๔๓

๗) สมาชิกวุฒิสภาในชุดปัจจุบันบางคนที่ออกมาโต้แย้งความเห็นของประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย เพราะเกรงว่าหากแก้ไขประเด็น ๖ ตำแหน่งได้ ก็อาจจะแก้ไขอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในส่วนอื่นได้ เป็นการคิดแต่ประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง โดยมิได้คำนึงถึงหลักการในการบริหารประเทศและผลประโยชน์ของส่วนรวม.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :