ไม่พบผลการค้นหา
‘สุทิน คลังแสง’ ขึ้นแท่นเป็น รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นโผนี้แต่แรก แม้ช่วงที่ผ่านมาชื่อ ‘สุทิน’ จะหลุดโผ ครม. หรือหลุดไปนั่ง รมว.ศึกษาธิการ สำหรับ ‘สุทิน’ เคยเป็นแกนนำ ‘คนเสื้อแดง’ จ.มหาสารคาม ช่วงปี 2551-53 นำชาวบ้านเดินขบวนไล่ทหาร มาถึงช่วงปี 2555-56 ขึ้นเวทีเดินสาย กับกลุ่ม ‘เสื้อแดงฮาร์ดคอ’ จนมาถึงรัฐประหาร 2557

‘สุทิน’ โดนเข้าค่าย 7 วัน เพื่อไป ‘ปรับทัศนคติ’

แม้ที่ผ่านมาจะแคนดิเดต รมว.กลาโหม คนอื่นๆมาแข่ง โดยเฉพาะชื่อ ‘บิ๊กเล็ก’พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาธิการ สมช. อดีตที่ปรึกษานายกฯ สมัย ‘รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ โดย พล.อ.ณัฐพล เป็น ตท.20 ซึ่งรุ่นดังกล่าวยังมี ‘พาวเวอร์’ ภายในกองทัพ เรียกว่าเป็น ‘แบ็คอัพ’ สำคัญเลยทีเดียว แต่สุดท้ายชื่อ พล.อ.ณัฐพล ก็หลุดไป

เหตุผลลึกๆ ไม่ใช่เพียง ‘เพื่อไทย’ ไม่ต้องการ ‘เสียโควต้า’ เก้าอี้รัฐมนตรีไป เพราะหากเป็นชื่อ พล.อ.ณัฐพล ก็จะเป็น ‘โควต้าร่วม’ ระหว่าง ‘เพื่อไทย-รวมไทยสร้างชาติ’ นั่นเอง แต่การดึง ‘สุทิน’ มาเป็น รมว.กลาโหม ที่แหวกธรรมเนียมเป็น ‘พลเรือนคนแรก’ ที่ไม่ได้ควบนายกฯ แล้วมาเป็น รมว.กลาโหม ย่อมมีนัยซ่อนอยู่

ย้อนไปเมื่อ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ‘เศรษฐา ทวีสิน’นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้นำ ‘สุทิน คลังแสง’ รมว.กลาโหม และ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ ไปร่วมทานอาหารกับ 3 ว่าที่ ผบ.เหล่าทัพ ชุดใหม่ ที่เข้าสู่ยุค ตท.23-24 ได้แก่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ว่าที่ ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ว่าที่ ผบ.ทร. และ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ว่าที่ ผบ.ทร. ที่ใช้เวลาพูดคุยกันราว 1 ชั่วโมง

เศรษฐา สุทิน ผู้นำเหล่าทัพ ปานปรีย์ เจริญชัย 723482.jpg

ซึ่งทั้ง พล.อ.ทรงวิทย์ กับ พล.อ.เจริญชัย เป็น ‘ทหารคอแดง’ ทั้งคู่

ภายหลังการพูดคุย มีรายงานความเคลื่อนไหวของ ตท.20 ที่ได้รุกคืบกลับมายัง ‘กลาโหม-กองทัพ’ อีกครั้ง ที่ว่ากันว่ามี ‘คนประสานกลาง’ คือ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่ใกล้ชิดกับ ‘บิ๊ก ตท.20’ สำหรับ ตท.20 เคยเป็น ‘กองหนุน’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อน 

ล่าสุดมีรายงานว่า ‘สุทิน’ ได้เลือก พล.อ.อ.สุรพล พุทธมนต์ อดีต รอง ผบ.ทอ. (ตท.20) มาเป็น ผู้ช่วย รมว.กลาโหม และมีชื่อของ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ (ตท.20) เป็น เลขานุการฯ

ส่วน พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกลาโหม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีชื่อติดโผไปเป็น ‘ที่ปรึกษานายกฯ’ แทน

สำหรับ พล.อ.อ.สุรพล มีความใกล้ชิด พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผบ.ทอ. (ตท.20) เพราะจบ ร.ร.นายเรืออากาศเยอรมัน มาด้วยกัน

ส่วน พล.อ.ณัฐพล เติบโตมาสายอำนวยการ ขึ้นเป็น เสธ.ทบ. ยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขณะเป็น ผบ.ทบ. ซึ่งทั้งคู่เป็น ตท.20 มาด้วยกัน

จากนี้ไปน่าสนใจว่าแนวนโยบายกองทัพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร หลังจาก ‘เศรษฐา’ ระบุชัดแต่แรกว่า ไม่ใช้คำว่า ‘ปฏิรูป’ แต่ขอใช้คำว่า ‘พัฒนาร่วมกัน’ ในวงอาหาร ‘เศรษฐา - ผบ.เหล่าทัพ’ มีรายงานว่า ‘เศรษฐา’ ได้ขอให้กองทัพเป็น ‘แบ็คอัพ’ ในการร่วมกันพัฒนาประเทศกับรัฐบาลอ

ซึ่งท่าที ผบ.เหล่าทัพ ก็ไม่ได้ต่อต้าน แต่ก็ต้องแลกกับการที่ ‘สุทิน-รัฐบาล’ จะต้องเป็น ‘ออกหน้า’ แทนกองทัพ ในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำ การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

‘สุทิน’ ได้เดินสายพบอดีต ‘บิ๊กทหาร’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตขุนพล ‘ไทยรักไทย-เพื่อไทย’ มาก่อน เริ่มที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม ที่พ้นตำแหน่งเพราะเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร’ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งล่าสุด พล.อ.ธรรมรักษ์ ได้ไปช่วยงานพรรคพลังประชารัฐ ตามคำเขิญของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะมีฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง

ต่อมา ‘สุทิน’ ได้เข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จบ ตท.10 รุ่นเดียวกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล ยังไม่มีจะหวนกลับคืนสู่สนามการเมือง สำหรับ พล.อ.อ.สุกำพล ในยุคที่เป็น รมว.กลาโหม ถือว่า ‘แข็งกร้าว’ ต่อขั้วตรงข้ามรัฐบาลอย่างชัดเจน

ชลน่าน สุทิน 055.jpeg

นอกจากนี้ ‘สุทิน’ ยังได้เข้าพบ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต รมว.กลาโหม ยุครัฐบาลทักษิณ สำหรับ พล.อ.เชษฐา แล้วนั้น เปรียบเป็น ‘พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์’ ตัวจริง แม้จะไม่ได้โตจาก พล.ร.2 รอ. แต่เคยไปอยู่ในตำแหน่ง เสธ. ก่อนไปโตทางอีสาน พล.ร.6 รอ. และเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 แต่สำหรับ พล.อ.เชษฐา เป็น ‘ผู้มีพระคุณ’ ของ พล.อ.ประวิตร ที่สนับสนุนให้ได้เป็น ผบ.ทบ. นั่นเอง ทำให้ ‘ทหารบูรพาพยัคฆ์’ ได้ผงาดตามกันมา กลายเป็น ‘ขั้วอำนาจ 3ป.’

อีกด้านในการเมืองภาพใหญ่ ‘สุทิน’ ก็ไม่ห่วง ‘ทหารสีส้ม’ ที่หมายถึงทหารที่มีแนวคิดสนับสนุน ‘พรรคก้าวไกล’

เพราะหากย้อนดูผลการเลือกตั้ง พบว่ากำลังพล ‘ชั้นประทาน’ ที่มีกำลังมากที่สุด รวมถึงนักเรียนนายร้อย เลือก ‘พรรคก้าวไกล’ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ด้วยเพราะ ‘กระแส’ และ ‘นโยบาย’ ที่โดนใจ เพราะพรรคก้าวไกล มีความชัดเจนในเรื่องการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ แต่หากดูจากแนวคิดของ ‘สุทิน’ ในเวลานี้ ยังคงเป็น ‘งานประจำ’ ที่กองทัพทำอยู่แล้ว มากกว่าไปจัดการ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ หรือพุ่งชนกองทัพ

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพ ปล่อย ‘เกียร์ว่าง’ ให้กำลังพลเลือกตั้งกันเอง ไม่มีไป ‘กำกับวิธีคิด’ เฉกเช่นในอดีต อีกทั้งกระแส ‘เบื่อลุง’ ที่เกิดขึ้น ก็ออกมาในรูปของ ‘ผลเลือกตั้ง’ นั่นเอง ซึ่งกองทัพก็เห็นถึง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ดังกล่าว ในอีกแง่หนึ่งการที่ ‘กองทัพ’ ได้ ‘สุทิน’ มาเป็น รมว.กลาโหม ก็ทำให้ ‘เป้านิ่ง’ เปลี่ยนไปด้วย

การนำ ‘สุทิน’ ที่มีท่าที ‘ประนีประนอม’ กับ ‘กองทัพ’ มานั่ง รมว.กลาโหม ต้องจับตาว่า ‘สุทิน’ จะถูก ‘ทหารกลืน’ หรือไม่ แต่ก็เป็น ‘สัญญาณ’ ลึกๆ แล้วว่า ‘เพื่อไทย’ มาเพื่อ ‘แชร์อำนาจ’ กับขั้วกองทัพ มากกว่ามา ‘ยึดอำนาจ’ ซึ่งจะไม่แตกต่างจากยุค ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ แต่ภายใต้ ‘ปัจจัย-เงื่อนไข’ ที่เปลี่ยนไป

เจริญชัย หินเธาว์ -DA22-496C-9FF5-16721122BDA8.jpeg

(พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ว่าที่ ผบ.ทบ. (ตท.23))

ทว่าในยุคนี้มาพร้อมการเกิดขึ้นของ ‘ทหารคอแดง’ ในกองทัพ ที่วางกำลังต่อแถวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ไปถึงช่วงประมาณปี 2572 เริ่มจาก พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ว่าที่ ผบ.ทบ. (ตท.23) เกษียณฯปี 2567 , พล.ท.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ว่าที่ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตท.26) เกษียณฯ ปี 2570 จากนั้นจะเข้าสู่ยุค ตท.28 ที่จะขึ้นมาคุยกองทัพ ซึ่งในเวลานี้มีแคนดิเดตหลายคน เช่น พล.ต.วรยศ เหลืองสุวรรณ , พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ ทั้งคู่เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนี้ ไม่ได้ขยับขึ้น ‘แม่ทัพน้อยที่ 1’ ส่วนอีกชื่อคือเป็น ดาวรุ่ง ตท.28 ที่อยู่ใน ‘ค่ายรบพิเศษ’ ที่ยังหลบมุมอยู่

ซึ่งต้องจับตาว่า ตท.27 จะสู้กลับหรือไม่ เพราะในเวลานี้ พล.ต.อมฤต บุญสุยา รองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้ขึ้นเป็น ‘แม่ทัพน้อยที่ 1’ เรียบร้อยแล้ว สำหรับ พล.ต.อมฤต เป็นทหารเสือฯ ร.21 รอ. เหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์

ถือเป็น ‘ปัจจัยใหญ่’ ที่ทำให้ ‘ดุลอำนาจ’ แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อน ภาพของ ‘การเมือง’ ที่จะแทรกแซง ‘กองทัพ’ จะลดน้อยลงไป รวมทั้งการทำ ‘รัฐประหาร’ ที่ ผบ.ทบ. ไม่ได้มี ‘อำนาจเบ็ดเสร็จ’ แบบในอดีต หลัง ทบ. มีการปรับหน่วยใหม่ การย้ายค่ายทหารต่างๆ มีการโอน ‘หน่วยขุมกำลังปฏิวัติ’ กลาง กทม. ออกไปอยู่ ‘นอก ทบ.’ ด้วย

ที่สำคัญช่วงที่ผ่านมา ‘พรรคเพื่อไทย’ ก็ได้รับ ‘สัญญาณดีๆ’ ในแง่หนึ่งก็ส่งผลต่อ ‘เสถียรภาพรัฐบาล’ ที่ขั้วอำนาจเพื่อไทย-ขั้วอีลีทไทย ยังต้อง ‘ลงเรือลำเดียวกัน’ ไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะเอาชนะ ‘ขั้วก้าวไกล’ ได้นั่นเอง เว้นแต่จะมีเหตุการณ์เปลี่ยน !!