ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นจากไฟป่าในอินโดนีเซีย ส่งผลให้ฝุ่นควันลอยไปรบกวนประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ฟากทางการวางแผนทำฝนเทียมเพื่อดับไฟป่าในปีนี้

รัฐบาลอินโดนีเซียส่งทีมออกไปทำฝนเทียมในช่วงที่อากาศแห้งที่สุดของปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่ารุนแรง เหมือนปี 2562 ที่ไฟป่าลุกลามไปหลายล้านไร่ และทำให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษปกคลุมประเทศ ส่งผลให้มีการปิดสนามบินและโรงเรียนหลายร้อยแห่ง และหมอกควันพิษยังลอยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จนเกิดความขัดแย้งกับมาเลเซียเมื่อก.ย.ปีที่แล้ว

มีการประเมินว่า ไฟป่าได้ทำลายที่อยู่อาศัยของประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนมีอาการป่วยทางระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 161,000 ล้านบาท)

รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซียกล่าวว่า มีการทำฝนเทียมสำเร็จแล้วในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าในช่วงมี.ค.ถึงต้นเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นเฟสแรกที่อากาศจะแห้งจัด จากเดิมพวกเขามีความรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาการของสภาพอากาศในเดือนมิ.ย. แต่ปัจจุบันพวกเขารู้สึกโล่งใจขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังจำเป็นต้องตื่นตัวรับเฟส 2 ที่อากาศจะแห้งจัดในเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้ 

ข้อมูลดาวเทียมจากนาซาระบุว่า ช่วง 1 ม.ค. - 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบไฟป่า 837 จุดในอินโดนีเซีย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ที่มีไฟป่ามากถึง 1,380 จุด

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังกังวลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันไฟป่าอินโดนีเซียที่ยังไม่เต็มที่นัก เนื่องจากรัฐบาลต้องทุ่มสรรพกำลังไปต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่ปัญหาหมอกควันที่จะเกิดขึ้นจากไฟป่ารุนแรงอาจยิ่งซ้ำเติมวิกฤตด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ จากการสูดดมฝุ่นควันพิษ โรงพยาบาลที่ต้องรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก การปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณมหาศาล และความเสียหายที่เกิดกับทรัพยากรธรรมชาติ

ด้านเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็ระบุว่าจะใช้มาตรการเข้มงวดในการดำเนินคดีมากขึ้น จากที่ผ่านมา ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ลงโทษบริษัทน้ำมันปาล์มและกระดาษไม่แรงพอ ทำให้มีคนลักลอบเผาป่าทำเกษตรกรรม จนปัญหาไฟป่ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

นับตั้งแต่ปี 2558 มีการฟ้องร้องบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดไฟป่ากว่า 50 คดี แต่มีเพียง 11 คดีเท่านั้นที่มีการตัดสินลงโทษ โดยรัฐจะต้องได้เงินชดเชย 19.4 ล้านล้านรูเปีย (ราว 43,000 ล้านบาท) แต่ปัจจุบันเพิ่งจะได้รับเงินเพียง 1 ล้านล้านรูเปีย (ราว 2,200 ล้านบาท)


ที่มา : The Guardian, The Jakarta Post