วันที่ 7 ก.ย. 2565 แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารแผนการจัดเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 7 พ.ย. 2566 ว่า เป็นแผนของทาง กกต. เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง โดยยึดเวลาการครบวาระการดำรงตำแหน่งของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งจะมีกิจกรรม และระยะเวลาตามกฎหมาย คือครบวาระวันที่ 23 มี.ค. 2566 รวมถึงการบริหารทางธุรการ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมตามปกติ
แสวง กล่าวต่อว่า หากเกิดการยุบสภาก่อนที่จะถึงกำหนดครบวาระสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีปัญหา เพราะทาง กกต. ได้ศึกษากฎหมายอยู่ตลอด เพียงแต่การแบ่งเขตการเลือกตั้งนั้นยังต้องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่อยู่ระหว่างการตีความของศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นให้ใช้บังคับก่อน แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานได้เตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว
แสวง ย้ำว่า หากเกิดกรณีการยุบสภาในระหว่างที่ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่มีผลบังคับใช้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้องยึดกฎหมายฉบับเก่า ทำให้พรรคการเมือง จะต้องทำการเลือกตั้งขั้นต้นในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบเต็มรูปแบบ และมีสาขาพรรคการเมืองให้ครบทุกเขตการเลือกตั้ง ตามที่กฎหมายเดิมกำหนด
ส่วนกรณีที่ กกต. ได้ออกประกาศเตือนพรรคการเมืองในการหาเสียง ก่อนที่จะถึงกำหนดการเลือกตั้ง 180 วันนั้น เลขาฯ กกต. ชี้แจงว่า เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งนี้ แตกต่างไปจากการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งจะมีข้อบังคับว่า พรรคการเมืองสามารถดำเนินการใดๆ ได้หรือไม่ ในระยะเวลา 6 เดือน แต่เชื่อว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าการแบ่งเขตจะแล้วเสร็จ ซึ่งสำนักงาน กกต. จะเสนอต่อกรรมการ กกต. เพื่อออกข้อบังคับแนวทางการหาเสียงให้ชัดเจน ภายในสัปดาห์นี้
แสวง เสริมว่า ตนมีความมั่นใจว่าพรรคการเมือง จะเข้าใจถึงข้อจำกัดในการหาเสียง หรือการลงพื้นที่เพื่อช่วยประชาชน โดยในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) สำนักงาน กกต. ได้นัดประชุมพรรคการเมือง เพื่อทำความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง ทั้งการจัดการประชุมใหญ่ รวมถึงการเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อคัดเลือกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (22 ก.ย.) เลขาธิการ กกต. ยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์การให้บริการสายด่วน 1444 ในการให้บริการประชาชน ติดต่อ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น รวมถึงข้อมูลข่าวสารของ กกต. เพื่อรองรับการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ในปี 2566
ซึ่งนอกจากจะมีบริการสายด่วน 1444 แล้ว ยังมีช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของ กกต. ในช่องทางอื่น ได้แก่เว็บไซต์ของ กกต.
เพจเฟซบุ๊ก และยูทูป รวมถึงแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในการสืบค้นข้อมูลการเลือกตั้ง รวมถึงติดตามสถานการณ์ และปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมชี้เบาะแสการทุจริตได้