วันที่ 21 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา ตัวแทนแนวร่วม 'ราษฎร' นำโดย อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน บารมี ชัยรัตน์ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม 'ราษฎรหยุด APEC 2022' ที่บริเวณ ถ.ดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา
โดย บารมี ระบุว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว แกนนำได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีอำนาจอะไรมาขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมมุ่งไปสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้พยายามเรียกร้องให้ตำรวจถอดกำลังออกไป มาอยู่เคียงข้างประชาชน ขณะที่เหตุชุลมุนนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่การปะทะ แต่เป็นการที่เจ้าหน้าที่ทุบตีเอาเพียงฝ่ายเดียว และในครั้งที่ 3 มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่จากตำรวจคุมฝูงชน (คฝ.) เป็นอีกชุดหนึ่ง ที่ใส่ผ้าพันคอสีเขียว เข้ามาสลายการชุมนุม
"ถ้าเห็นว่าการชุมนุมไม่ชอบ ก็ต้องไปร้องต่อศาลให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม แต่นี่เป็นการใช้กำลังและอำนาจเถื่อนเข้ามาทำร้ายมวลชน จนกระทั่งมีคนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียดวงตา ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ และยังเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของเรา"
บารมี ระบุว่า ตัวแทนมวลชนจึงมาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานจัดการประชุมเอเปค เข้ามาชี้แจง
ด้าน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยระบุว่า การชุมนุมของประชาชนย่อมเป็นสิ่งพึงกระทำได้ และประเทศไทยขณะนี้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว การชุมนุมสาธารณะก็เป็นเรื่องปกติในระบบประชาธิปไตย ยกเว้นผู้นำเผด็จการเท่านั้นที่รับไม่ได้กับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ
ทั้งนี้ ณัฐชา ยังกล่าวว่า ความรุนแรงจากเจ้าหน้า ที่ ถือว่าเกินอัตราส่วนจำนวนของประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งยังขาดมาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก เปรียบเหมือนไม่ได้มีการฝึกอบรมอะไรกันมาเลย
ณัฐชา ยังเผยว่า วันที่ 24 พ.ย.นี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำกรณีดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสืบถามข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ อีกทั้งเวลา 11.00 น. ก่อนการประชุม ก็จะมีกลุ่มสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุมดังกล่าว มาส่งมอบพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่รัฐสภาด้วย
ด้านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทยร่วมรับหนังสือ พร้อมระบุว่า รัฐบาลที่ดีต้องฟังเสียงประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลโต้ตอบกลับมา คือการผลักประชาชนให้เป็นศัตรู ถือว่าไม่ถูกต้อง และยังเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศชาติ ตนในฐานะตัวแทนของพรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องเข้าสู่การตรวจสอบ