จากกรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นชายวัย 65 ปี เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นแล้วป่วยเป็นไข้ มีอาการไอ ก่อนจะเข้ารักษาตัวที่ รพ.บี.แคร์ แต่เจ้าตัวกลับปกปิดข้อมูลปฏิเสธว่าไม่ได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง ก่อนจะยอมรับในภายหลัง และยังตรวจพบว่าภรรยาอายุ 62 ปี ที่เดินทางไปเที่ยวด้วยกันติดเชื้อด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังทำให้หลานชายวัย 8 ขวบ ติดเชื้อตามไปอีกราย นำมาสู่การคัดกรองติดตามตรวจสอบบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในทุกพื้นที่
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการปกปิดข้อมูลดังกล่าวว่า ผู้ป่วยอาจไม่ได้มีเจตนาปกปิด แต่อาจประมาทในช่วงระหว่างการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ได้มีการป้องกันตัวเอง เพราะหากใส่หน้ากากอนามัยหรือล้างมือเป็นประจำอาจทำให้โอกาสการติดเชื้อลดลงได้ และพอมาหาหมอที่โรงพยาบาลอาจจะมีความกังวลว่าจะถูกกักตัว จึงไม่อยากพูดความจริง แต่มาคิดได้ในภายหลังว่าต้องเปิดเผยข้อมูลไม่อย่างนั้นอาจจะมีปัญหาตามมา
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งจะมีบทบัญญัติการควบคุมเกี่ยวกับการรายงาน การกักตัวเอง หากใครฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษมีตัั้งแต่โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนกรณีชายวัย 62 ปี จะมีโทษหรือไม่นั้น นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า เนื่องจากการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายยังไม่ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ชายคนดังกล่าวจึงยังไม่เจอบทลงโทษในครั้งนี้
อ่านรายละเอียด พระราชบัญญัติ โรคติดต่อพ.ศ. 2558 เกี่ยวกับบทกำหนดโทษหากปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยด้วยโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
โซเชียลวิพากษ์ชายไทยเพิ่งกลับจากเกาหลี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอความร่วมมือประชาชน งดเที่ยว งดเดินทางไปยังพื้นที่ระบาดของโรคต่อเนื่อง หากจำเป็นต้องไป ขอให้ระมัดระวังตัว หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และหากกลับมาให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเองเป็นเวลา 14 วัน หากมีไข้ ไอ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
ล่าสุดในโลกออนไลน์มีการวิพากษ์คนไทยที่ไปเที่ยวประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้วไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเพจเฟซบุ๊ก จ่าไม่เฉย ออกมาโพสต์ตำหนิชายรายหนึ่งที่เพิ่งกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ แล้วถูกบริษัทที่ทำงานให้หยุดทำงานที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน เพื่อดูอาการ แต่กลับเอาเวลา 14 วันเตรียมตัวไปเที่ยวต่อ
ขณะที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมาก เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่มีจิตสำนึก ขณะที่บางส่วนมีความกังวลว่าจะมีการแพร่เชื้อเหมือนกับกรณีชายวัย 62 ปี ที่เพิ่งกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :