แมร์เคลกล่าวว่าเธอเอง “ไม่มีอะไรจะต้องขอโทษ” จากนโยบายของเยอรมนีที่ตอบรับต่อการที่รัสเซียเคยเข้ายึดไครเมียของยูเครน และผนวกรวมแผ่นดินดังกล่าวเข้าเป็นของตนเองเมื่อปี 2557 ทั้งนี้ เยอรมนีได้เคยประกาศคว่ำบาตรรัสเซียมาแล้วเมื่อปีดังกล่าว นอกจากนี้ แมร์เคลยังออกมาแก้ต่างการที่ตนคัดค้านการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ของยูเครนด้วย
แมร์เคลถูกหลายฝ่ายกล่าวหาว่า นโยบายของเยอรมนีต่อรัสเซียภายใต้การปกครองของเธอนั้นผิดพลาด ส่งผลให้เยอรมนีในปัจจุบันเปราะบาง เนื่องจากเยอรมนีภายใต้แมร์เคลดำเนินความสัมพันธ์กับรัสเซียโดยอาศัยการทำธุรกิจร่วมกันเป็นนโยบายนำ โดยเฉพาะกรณีท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 จากรัสเซียมายังเยอรมนี ที่ถูกสร้างขึ้นขณะที่เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ก่อนที่ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะได้ระงับโครงการดังกล่าวลงก่อนการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อ 24 ก.พ.
ในปัจจุบันที่หลายชาติประกาศนโยบายคว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนัก เยอรมนีตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากต่อการถอนตัวจากการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทั้งนี้ การคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีเอง
อย่างไรก็ดี แมร์เคลระบุว่า ยุโรปและรัสเซียเป็นเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถเมินเฉยต่อกันและกันได้ “เราต้องหาทางในการอยู่ร่วมกัน ถึงแม้จะมีความแตกต่างระหว่างเรา” แมร์เคลกล่าว ทั้งนี้ แมร์เคลระบุว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซีย “ไม่เพียงแต่รับไม่ได้ แต่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัสเซีย”
“ถ้าเราเริ่มที่จะกลับไปเมื่อหลายศตวรรษก่อน และถกเถียงกันว่าส่วนไหนของดินแดนที่ควรจะเป็นของใคร มันก็จะเกิดแต่เพียงแค่สงคราม” แมร์เคลกล่าว “นั่นไม่ใช่ตัวเลือกแต่อย่างใด” ทั้งนี้ แมร์เคลได้ออกมาแก้ต่างการออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากการผนวกรวมไครเมีย และบทบาทของเยอรมนีในการคงกระบวนการสันติภาพมินสก์ ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อการยุติการสู้รบในบริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนระหว่างปี 2557-2558
แมร์เคลกล่าวว่า กระบวนการสันติภาพดังกล่าวช่วยให้ยูเครนมีเวลาในการพัฒนาตนเอง ในฐานะการเป็นชาติและการเสริมความแข็งแกร่งให้กับกองทัพของตนเอง “ดิฉันไม่จำเป็นจะต้องโทษตัวเองจากการที่ไม่ได้พยายามทำอะไรให้หนักพอ” อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าว “ดิฉันไม่เห็นว่าดิฉันต้องพูดว่า ‘มันผิดพลาดตรงนี้’ และนั่นคือเหตุผลว่าดิฉันไม่มีอะไรจะต้องขอโทษ”
อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่เคยดำรงตำแหน่งมานานกว่า 16 ปี เคยคัดค้านการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของยูเครนในปี 2551 โดยเธอระบุว่า เธอไม่ต้องการจะให้เกิดการยกระดับสถานการณ์กับทางรัสเซีย และในช่วงเวลานั้น ยูเครนเองยังไม่มีความพร้อม “นั่นไม่ใช่ยูเครนที่เรารู้จักกันในวันนี้” แมร์เคลกล่าว “ประเทศนั้นไม่มีเสถียรภาพ มันเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน”
อย่างไรก็ดี โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งกำลังปกป้องประเทศของตนเองโดยไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ แต่ยังคงได้รับความช่วยเหลือทางด้านการทหารและมนุษยธรรมจากชาติตะวันตกเพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานของรัสเซีย ได้เคยออกมากล่าวถึงการตัดสินใจของเยอรมนีภายใต้แมร์เคลเมื่อปี 2551 ว่าเป็น “การคำนวณที่ผิดพลาด”
จากการสัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) แมร์เคลที่ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีไปแล้ว 6 เดือน ระบุว่า เธอมี “ความเคารพอย่างสูงสุด” ต่อเซเลนสกี และรู้สึกทึ่งจาก “ความกล้าหาญและความแน่วแน่ทุ่มเท” จากการที่ประธานาธิบดียูเครนและชาวยูเครนได้เข้ารบเพื่อปกป้องประเทศตนเองจากรัสเซียที่เข้ารุกราน
ที่มา: