ไม่พบผลการค้นหา
'รุกขกร' มองโจทย์ใหญ่ 'ผู้ว่าฯ กทม.' ผ่านนโยบายปลูก 1 ล้านต้น ภายใต้โครงสร้างผังเมืองที่ซับซ้อนและข้อจำกัดบนระบบรวมศูนย์อำนาจ

“ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง” หนึ่งใน 214 นโยบาย ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นอีกมิติที่กำลังถูกจับตามอง ท่ามกลางการเจริญเติบโตของเมืองและข้อจำกัด ‘ผังเมือง กทม.’ อันซับซ้อนและยุ่งเหยิง

เหล่านี้ล้วนถูกจัดอยู่ในหมวดปัญหาของเมืองกรุง ภายใต้ความเจริญที่งอกเงยเข้ามาบดบังพื้นที่สีเขียว จึงเป็นที่มาของนโยบายปลูกต้นไม้ของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โดยแบ่งปลูก 400 ต้น ในแต่ละสัปดาห์ต่อเขต ตั้งเป้าหมายให้ครบ 1 ล้านต้น ภายใน 4 ปี 

‘วอยซ์’ ชวน 'ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์' อาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 'รุกขกรอาชีพ' หรือ 'หมอต้นไม้' ที่เขานิยามอาชีพนี้ไว้ว่า ‘ตั้งแต่ทำคลอดต้นไม้จนถึงเป็นสัปเหร่อ’ เพื่อเปิดกระถางนโยบายสีเขียวของ ผู้ว่าฯ กทม.


ปลูกล้านต้นไม้ใช่เรื่องยาก
ชัชชาติ ปลูกต้นไม้ -DF23-40E3-B015-C7050165CB3E.jpeg

อาจารย์จากรั้ว ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า 1 ล้านต้นไม่ใช่เรื่องยากจากการสำรวจ กทม.มีพื้นที่ 1 ล้านไร่ เมื่อเอาล้านหารล้านเท่ากับว่าได้ไร่ละต้น และนโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เชื่อว่าทุกเขตทำได้และไม่ได้เกินกำลัง 

แต่สิ่งที่นักวิชาการผู้นี้กำลังกังวลคือ “ต้นไม้ที่ปลูกตอนนี้เหมาะสมที่จะปลูกหรือยัง ทั้งชนิดทั้งขนาด รวมถึงอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น”

ดังนั้นสิ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มต้นไม้ในเมืองอย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องมี ‘รุกขกร’ เริ่มตั้งแต่จัดการทำคลอดคือการปลูกต้นไม้ การทำให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง การดูแลรักษาเมื่อต้นไม้เป็นโรคหรือผิดปกติ จนกระทั่งต้นไม้ตาย

ผศ.ดร.พรเทพ ยังฉายภาพให้ชัดขึ้น เนื่องจาก ‘ต้นไม้ใหญ่’ ในกรุงเทพมหานคร จากผลสำรวจมีจำนวน 2-3 ล้านต้น แต่ กทม.ตอนนี้ ‘รุกขกร’ ที่มีการรับรองอย่างถูกต้องมีแค่ 1 คน เขาย้ำอีกว่าทั้ง กทม.มีแค่ 1 คน ทว่าไม่ใช่แค่ กทม.เท่านั้นที่ขาดแคลน

“รุกขกรที่มีในประเทศไทยที่ผ่านการรับรอง มีแค่หลัก 10 คน ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เราไม่มีรุกขกรนั่นแหละครับ ทำให้ต้นไม้อยู่ในสภาพอย่างที่เราเห็น อาจจะถูกตัดไม่ดีบ้าง ถูกโค่นออกไปบ้างปัญหาเหล่านี้ มันต้องมีการสร้างคนที่เป็นรุกกรอาชีพเข้าไปทำงานให้เพียงพอ”


พื้นที่สีเขียวที่มีเจ้าของ
รุกขกร-ต้นไม้

อีกข้อจำกัดการขยายพื้นที่สีเขียวของเมืองหลวง จากข้อมูลพบว่า กทม.มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 6 ตารางเมตร ต่อประชากร 1 คน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ขีดเส้นมาตรฐานไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน แต่เมื่อเจาะลึกเข้าไปแล้วกลับพบว่า พื้นที่สีเขียวทั้งหมดล้วนมีเจ้าของ 

“ข้อมูลพื้นที่สีเขียวเหล่านั้น มันรวมสนามฟุตบอล สนามกอล์ฟหรือเกาะกลางถนนมาด้วย ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีใครไปนั่งกินข้าวบนเกาะกลางถนนอยู่แล้ว ดังนั้นข้อมูลล่าสุดคือ กทม.มีสวนสาธารณะประมาณ 100 แห่ง จากพื้นที่ 4,000 ไร่ เมื่อคำนวนแล้วมีพื้นที่สีเขียวจริงๆ คือ 1 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน และ 1 ล้านไร่ของพื้นที่ กทม. ทุกตารางเซนติเมตรมันมีเจ้าของหมด” 


ผังเมืองที่ไม่รองรับต้นไม้
รุกขกร-ต้นไม้

อีกปัจจัยของปัญหาคือผลพวงที่เกิดจาก ‘ผังเมืองอันซับซ้อน’ โดย ‘ผศ.ดร.พรเทพ’ บอกว่า “ผมไม่แน่ใจตอนวางผังเมืองเมื่อครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มีการรับรองต้นไม้ไหม ผมเชื่อว่าไม่มี และคงไม่สามารถย้อนกลับไป 200 ปี เพื่อแก้ไขผังเมืองใหม่ได้”

“เพราะฉะนั้นโจทย์ของกรุงเทพ ที่ผังเมืองซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากๆ การจะวางต้นไม้ในเมือง ค่อนข้างที่จะยากกว่าเมืองที่ออกแบบไว้เพื่อต้นไม้ เช่น นิวยอร์ก-ฮ่องกง-สิงคโปร์”

เนื่องจากต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเติบโตขึ้นได้เป็น 100 ปี ตอนต้นเล็กอาจยังไม่สร้างปัญหาอะไร ทว่าการเติบโตของต้นไม้ในเมืองนั้น อาจสร้างปัญหาให้กับพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นต้นไม้ในเมืองจะปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติคงเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด จึงมีโจทย์ตามมาคือจะทำอย่างไรให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับคนเมืิองได้ แต่การตัดต้นไม้ให้ถูกวิธี ต้องทำโดยคนที่มีความรู้จริงๆ ซึ่งก็คือ 'รุกขกร' ที่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ


อำนาจรวมศูนย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายต่างๆจะสัมฤทธิ์ผลได้ ต้องพึ่งพาการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งส่วนผลิตนโยบายจนถึงผู้ปฏิบัติงาน ทว่าระบบราชการไทยนั้น อยู่ในลักษณะอำนาจรวมศูนย์สั่งจากข้างบนลงล่าง โดยเสียงจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนกับไร้พลัง

“ใช่ครับ” อาจารย์จากรั้ว ม.เกษตรฯตอบทันควัน และขยายต่อว่า “เมื่อก่อนนโยบายจะมาจากข้างบนลงมาข้างล่าง ข้างบนว่ายังไงข้างล่างก็ว่าอย่างงั้น พอมันขาดการเชื่อมต่อตรงกลางหายไป ผู้ว่าฯกทม. ท่านก่อนๆ อาจจะสั่งงานจริงแต่มันไม่ถึงคนปฏิบัติเลย 

“พอมาสมัยนี้มันเริ่มจากการรับฟังก่อน ตอนนี้เราเริ่มคุยกันปัญหามันเกิดจากอะไร สิ่งที่ กทม.ทำได้คืออะไร สิ่งที่ภาคประชาสังคมทำได้คืออะไร อันนี้ผมว่ามันคือการขับเคลื่อนพร้อมกัน ไม่ใช่นโยบายเชิงท็อปดาวน์ที่สั่งมาจากท่านผู้ว่า ท่านผู้ว่าแค่มีกรอบใหญ่ๆว่าอยากมีพื้นที่สีเขียว แต่รายละเอียดมันเกิดจากการทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก” 


โมเดล City in the Park
รุกขกร-ต้นไม้

ผู้เชี่ยวชาญด้านรุกขกรรม ได้ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ตามนโยบายของ ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งมีวิสัยทัศน์มองไปในอนาคต ด้วยการสร้างนโยบาย จนผลิดอกออกผลมายังยุค ลี เซียนลุง บุตรชายและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เรียกได้ว่าสิงคโปร์ เป็นพื้นที่สีเขียวดีที่สุดในโลก 

“กทม.วันนี้เราเริ่มนับ 1 ใน 40 ปีข้างหน้า ผมมั่นใจว่าจะเป็นเหมือนสิงคโปร์แน่นอน แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือสิงคโปร์มีแผนในระยะยาว แต่ กทม.มีนโยบายปลูก 1 ล้านต้นก่อน ทำให้ยังขาดองค์ประกอบอีกหลายเรื่อง เช่นรุกขกรที่จะเข้ามาดูแลมีกี่คน ตรงนี้ต้องเพิ่มรายละเอียดให้กับผู้ว่าฯอีกครั้ง”


นโยบายตัดต้นไม้ ที่ไม่ยังไม่สังเคราะห์
รุกขกร-ต้นไม้

ในส่วนบทบาทการสั่งการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ‘ผศ.ดร.พรเทพ’ ได้เสนอให้เริ่มจากหน่วยงานที่รับผิดชอบพูดคุยกัน คำนึงผลความเป็นจริงจากความยากง่ายของการปฏิบัติแต่ละพื้นที่ มากกว่าผลลัพธ์ตามคำสั่งการ

“สมมติว่า 1 วัน ต้องตัดให้ได้​ 3 เมตร ทุกคนก็ต้องทำหน้าตาแบบนี้ ด้วยวิธีการแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นพี่ชุดเขียว (ลูกจ้าง กทม.) เป็นหัวหน้าเขาหรือเป็นผม เพราะฉะนั้นอย่าไปว่าคนปฏิบัติ ไปว่าที่คนกำหนดโจทย์ ว่าทำไมคุณต้องสั่งให้เขาทำแบบนี้ ด้วยเวลาเท่านี้นั่นคือนโยบายครับ ซึ่งคนที่เขาทำเขาไม่มีสิทธิ์กำหนด คือผมว่าทุกคนมันรักต้นไม้หมดแหละ”

เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพ ‘อาจารย์จากคณะวนศาสตร์’ ยกกรณีเรื่อง ‘ต้นไม้กับสายไฟ’ ซึ่งคนที่ต้องคุยกันคือ กทม. ผู้เป็นเจ้าของต้นไม้ รวมถึงการไฟฟ้านครหลวงและกรมทางหลวง คุยกันสิว่าต้นไม้ที่อยากเห็น คือต้นไม้ที่สวยนะ สวยคือยังไง สายไฟต้องการแบบไหน หรือถนนเส้นนี้ขอเวลา 1 เดือน ต้องให้เวลาเขา 1 เดือน ไม่ใช่จะบอกว่ามีเวลา 1 วัน แล้วมันจะเกิดขึ้นได้ยังไง 

“สิ่งที่ผมจะบอกคือมันต้องเริ่มจากนโยบายที่ถูกต้องก่อน ณ ตอนนี้นโยบายมาละ ผู้ว่าฯ กทม.เอาแน่ ตอนนี้ที่ขาดจริงๆคือผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติเรากำลังเร่งผลิตอยู่ สมาคมรุกขกรรมไทยมีการสอบรับรอง ให้เป็นรุกขกรอาชีพ ผมกำลังทำมาตรฐานอาชีพ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สิ้นปีนี้เราจะมีรุกขกรที่รับรองโดยรัฐบาล เป็นมาตรฐานอาชีพรุกขกรภายในสิ้นปีนี้”

รุกขกร-ต้นไม้

โดยอนาคตต่อไปประเทศไทย ในสายตาของ ‘ผศ.ดร.พรเทพ’ เขาเชื่อว่าโมเดลนี้ จะทำสำเร็จเหมือนสิงคโปร์หรือสหรัฐอเมริกา ด้วยข้อปฏิบัติของคนตัดต้นไม้หากจะดำเนินงานต้องถูกตรวจสอบว่าใบอนุญาตเลขที่เท่าไหร่ สถาบันไหนรับรอง ถ้าไม่มีไม่ผ่านห้ามตัด มีโอเคเซ็นสัญญาทำได้ นี่คืออนาคต หากฝ่าฝืนถูกร้องเรียนถูกยึดใบอนุญาต จะหมดอนาคตทางอาชีพทันที 


กทม.ผลิใบสู่ท้องถิ่น

“ถ้าท่านผู้ว่าได้สร้างฐานของความคิดคนขึ้นมาได้ ว่าการจัดการต้นไม้ต้องทำอย่างไร แล้วให้ฐานความคิดนี้มันสืบทอดไปในอนาคตได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าก็ตามแต่ ต้องทำตามฐานความคิดวิธีการที่เรากำหนดไว้ อนาคตมันต้องเกิดขึ้น

"อย่างสิงคโปร์ก็ไม่ได้สำเร็จที่สมัยลีกวนยู ลีกวนยูเสียไปต้นไม้ก็ยังเล็กอยู่เลย แต่มาสำเร็จที่ลูกเขาคือ ลี เซียนลุง ใช้เวลา 10-15 ปี ต่อมา และวันนี้ก็เหมือนกัน ความสำเร็จที่จะได้เห็นคือการวางรากฐานที่ดีส่งต่อไปยังยุคลูกหลานเรา ซึ่งตอนนี้มันถูกวางรากฐานไว้แล้ว” อาจารย์จากรั้ว ม.เกษตรศาสตร์ ทิ้งท้ายประโยค

293039091_10162995818374848_108191214682427842_n.jpeg


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog