ส.ว.จำนวนมากใช้เวลากับการด่าทอข้อเสนอของ #ม็อบปลดแอก
ส.ส.จำนวนมาก ปิดทางข้อเสนอ ปิดความฝันของ #ม็อบปลดแอก
ตัดภาพไปที่ฝั่งรัฐบาล ก็ได้เห็นภาพของเนติบริกรลุกขึ้นอธิบายข้อติดขัดทางกฎหมาย หากยืนยันให้ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากอำนาจในวันนี้ เป็นการใช้เงื่อนทางกฎหมายที่ผูกมัดมาอย่างดีแล้ว ปิดทางข้อเรียกร้องของ #ม็อบปลดแอก
ภาคต่อที่รับลูกมาจากสภา คือการเดินเกมของ “นายกรัฐมนตรี” เพื่อเสนอทำประชามติ เปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเดินเกมของ “ประธานรัฐสภา” โดยเชื้อเชิญ อดีตนายกรัฐมนตรี-คีย์แมนทางการเมือง เข้ามาแสวงหาสมานฉันท์ทางการเมือง
ทั้งสองเกมการเมือง ล้วนหวังผลที่การระบายไอเดือดออกจากกาน้ำ แต่ทั้งสองเกมส์การเมืองล้วนไม่ปรากฏที่ยืนอย่างโดดเด่นให้กับตัวแทนและข้อเสนอของ #ม็อบปลดแอก
การชุมนุมเมื่อ 8 พ.ย. 2563 ที่บริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง เพื่อส่งจดหมายฉบับสำคัญ เป็นภาพสะท้อนว่า #ม็อบปลดแอก ปฏิเสธเกมการเมืองแบบ “ยื้อเวลา” ทุกประเภท
การเลี่ยงหลบ กลบเสียงข้อเรียกร้องที่เป็นความฝันของผู้คนจำนวนมาก ในทำนอง “ทำเป็นไม่เห็น-ทำเป็นไม่ได้ยิน” รังแต่จะทำให้สถานการณ์ร้อนไปข้างหน้า
“ทั้งสาร และวิธีการเรียกร้อง” มีแนวโน้มหนักไปข้างหน้า หากบรรดาสารที่อยู่ในจดหมายไม่ได้รับการตอบสนอง
“ข้อตอบสนองสองระดับ”
ประเด็น “ข้อตอบสนอง” มีอยู่หลายระดับด้วยกัน ตั้งแต่ตอบสนองด้วยการปรับตัว ไปจนถึงตอบสนองด้วยการเซ็ตซีโร่ประเทศ
เหมือนที่มี “เครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.)” ประกาศว่าจะเดินทางไปส่งสารถึงนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก
เพื่อ “เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ชัตดาวน์ประเทศไทย”
การตอบสนองในลักษณะนี้ ดำเนินไปพร้อมกับเครือข่าย “พุทธะอิสระ-บิณฑ์-วรงค์-อุ๊-สื่อเครือเนชั่น” ที่นับวันยิ่งเดินหน้าปลุกระดมความเกลียดชัง จากความเห็นต่างที่สามารถถกเถียงได้ด้วยเหตุด้วยผลให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปด้วยอารมณ์ อาทิ
“เพจหลวงปู่พุทธะอิสระ” โพสต์ข้อความหลัง #ม็อบ8พฤศจิกา ว่า
“ม็อบคณะราษฎร หรือ ม็อบทรราช กันแน่
ถึงกับบังอาจจะบุกเข้าไปถึงประตู พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน
ด้วยพฤติกรรม ที่กักขฬะ ป่าเถื่อน ผิดวิสัยของเด็ก
มันจะเหยียบย่ำหัวใจคนในชาตินี้กันเกินไปหรือเปล่า....
เมื่อพูดกันดีๆ ไม่รู้ภาษา ถ้างั้น คงต้องลงไม้เรียว ให้หลาบจำกันบ้าง เผื่อจะสำนึกได้
แล้วเจอกัน ให้มันจบกันไปในรุ่นนี้”
ตามด้วยความเห็นของ “หมอวรงค์” ที่กำลังเดินสายจัดกิจกรรม "ชวนกินข้าว ฟังเรื่องเล่าพระเจ้าอยู่หัว” ในหลายจังหวัด
“ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงมีพระเมตตา ไม่ถือสาเอาความ ไม่ให้ใช้มาตรา 112 เพราะพระองค์ทรงรักประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่สำนึก กำเริบเสิบสาน กระทำในสิ่งที่มิบังควร เหิมเกริม โดยเฉพาะข้อความในจดหมาย รวมทั้งการใช้ความรุนแรง ตะโกนคำพูดที่หยาบคายต่อสถาบัน ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายข้าวของ และใช้พลุไฟขว้างใส่เจ้าหน้าที่
ถึงเวลาที่พวกเรา ประชาชนผู้ภักดี ต้องออกมารวมตัวกันอีกสักครั้งดีไหม ? เพื่อร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ ด้วยกฎหมายมาตรา 112 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง”
ตามด้วย “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาผสมโรงด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับม็อบทางใดทางหนึ่ง
“ผมยังยืนยันในหลักการเดิมว่า รัฐบาลหน่อมแน้ม เป็นใบ้ไม่ชี้แจงตามสมควร ปล่อยให้ทุกอย่างพุ่งตรงสู่สถาบันโดยไม่ยับยั้งแก้ไข การเป็นใบ้ ไม่ชี้แจง เหมือนกับรัฐบาลกำลังกลายเป็นแนวร่วมผู้บ่อนเซาะสถาบันไปโดยปริยาย ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาของรัฐบาลเอง สิ่งที่ผู้ชุมนุมทำผมว่าเหยียบย่ำหัวใจคนที่เขาจงรักภักดี รัฐบาลไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของประชาชนกลุ่มนี้บ้างเลยหรือ ?”
“จิตวิญญาณประเทศ”
ตัดกลับไปที่บรรยากาศหลังการเลือกตั้งของประเทศในโลกเสรี ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวสุนทรพจน์ชิ้นสำคัญต่ออเมริกันชนเมื่อค่ำวันที่ 7 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา
ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนบอกว่า เขาลงสมัครประธานาธิบดีหนนี้ก็เพื่อ “Restore the soul of America” หรือ รื้อฟื้นจิตวิญญาณของประเทศ
เหมือนกับการต่อสู้หนนี้ในไทย ซึ่งก้าวไปไกลในระดับ “นิยามจิตวิญญาณของประเทศกันใหม่-จัดวางตำแหน่งแห่งที่จิตวิญญาณของประเทศกันใหม่”
เหมือนที่ “ประจักษ์ ก้องกีรติ” นิยามการเคลื่อนไหวของ #ม็อบ8พฤศจิกา และการจัดกิจกรรมส่งจดหมายว่า “การชุมนุมวันนี้ คือ การสร้างวัฒนธรรมการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองแบบใหม่สำหรับสังคมไทย”
การตอบสนองจะดำเนินไปในระดับใด ยังคงเป็นเรื่องยากหยั่งถึง แต่ความพยายามในการนิยามจิตวิญญาณของประเทศกันใหม่ก็ดี แต่ความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ก็ดี
ล้วนดำรงอยู่จริง และยากที่จะทำเป็นไม่เห็น-ไม่ได้ยิน.