จักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ชี้แจงถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล มีข้อสงสัยต่อร่าง "พระราชบัญญัติอากาศเป็นพิษ" ของพรรคก้าวไกล ที่ไม่สามารถนำมาพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับ "ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด" ที่เสนอโดยภาคประชาชนที่เข้าชื่อกันกว่า 22,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย, คณะรัฐมนตรี, สส.พรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคภูมิใจไทยว่า ตามข้อเท็จจริง และขอความเป็นธรรมแก่ทุก ฝ่ายเนื่องจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งส่งร่างกฎหมายอากาศเป็นพิษของพรรคก้าวไกล ถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 เวลา 14.52 น. และยังเป็นร่างกฎหมายที่ยังไม่ได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่น ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับนั้น จะต้องผ่านการรับฟังความเห็นก่อน เพื่อพิจารณาว่า เป็นร่างกฎหมายนั้น เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ แม้คณะทำงานของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี จะพยายามเร่งรัดขั้นตอนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล และชะลอร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรี, สส.พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ และภาคประชานที่ผ่านการรับฟังความเห็น และนายกรัฐมนตรี ลงนามผ่านพิจารณาการเป็นร่างกฎหมายการเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรอร่างกฎหมายดังกล่าวของพรรคก้าวไกลจนวินาทีสุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่มีร่างกฎหมายอากาศเป็นพิษของพรรคก้าวไกลที่ผ่านความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาถึง ดังนั้น การกล่าวหาว่า รัฐบาลเลือกปฏิบัติ หรือเลือกข้างนั้น ไม่เป็นความจริง
“การทำงานของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และความถูกต้อง ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ ไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่นิดเดียว และก็จะต้องคำนึงกรอบกติกา และระเบียบ รวมถึงข้อควรระมัดระวังในขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ แต่ละขั้นตอน” จักรพล ยืนยัน
จักรพล ยังขอให้พรรคก้าวไกล ไม่ต้องมีความกังวลใด ๆ เพราะแม้ร่างกฎหมาย จะไม่สามารถนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรได้ทัน แต่ สส.ก็ของพรรคฯ ก็ยังสามารถอภิปรายแสดงความเห็นในสภาได้ รวมถึงยังสามารถแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการได้ ซึ่งเจตนารมย์ในร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ก็จะถูกพิจารณาในชั้นกรรมาธิการอยู่แล้ว ดังนั้น สาระสำคัญในร่างกฎหมาย ทั้งจากภาคประชาชน คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง ก็จะถูกนำไปพิจารณาในกรรมาธิการทั้งหมด ซึ่งพรรคก้าวไกล ก็จะมีบุคคลไปร่วมเป็นกรรมาธิการ 6 คน, ภาคประชาชน 13 คน ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงสามารถเสนอประเด็นสารัตถะสำคัญต่าง ๆ ที่พรรคก้าวไกลต้องการได้อย่างครบถ้วน
จักรพล ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลกล่าวหาถึงการเอื้อประโยชน์นายทุนว่า พรรคก้าวไกล จะต้องไม่ลืมว่า ร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรี ก็มีความคล้ายคลึงกับร่างกฎหมายที่พรรคการเมืองเสนอ ดังนั้น ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการนั้น ภาคประชาชนจะมีสัดส่วน 13 คน พรรคก้าวไกล 6 คน ก็จะมีสัดส่วนมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว 1 คน ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนแต่อย่างใด
ส่วนเนื้อหาภายในร่างกฎหมายอากาศสะอาดของทุกพรรคการเมืองนั้น นายจักรพล มั่นใจว่า มีความครบถ้วนครอบคลุม ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ภายในแต่ละร่างกฎหมาย โดยเฉพาะของพรรคก้าวไกล ก็เป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้หลักการเดียวกันในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และหมอกควันข้ามพรมแดน รวมไปถึงมาตรการด้านการเงินการคลัง และภาษีนำเข้า ซึ่งเป็นสารัตถะที่คล้ายกันในทุกร่างกฎหมายอากาศสะอาด
"หากมองในข้อเท็จจริง ทุกร่างกฎหมายที่จะเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์ต่อประเทศชาติ จะต้องไม่มีความตกหล่น แต่ไม่ว่าร่างกฎหมายพรรคก้าวไกล จะได้เข้า หรือไม่ได้เข้าพิจารณา รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับทุกความเห็น และทุกข้อมูลของพรรคการเมืองในการพิจารณาอยู่แล้ว ดังนั้น ความกังวลของพรรคก้าวไกลที่เนื้อหาจะไม่ถูกพิจารณาจึงไม่เป็นความจริงอย่างยิ่ง เพราะก็ยังจะเป็นส่วนที่รัฐบาลหยิบมาวิเคราะห์ และศึกษาร่วมกันอย่างที่สุด สาระสำคัญไม่ตกหล่นแน่นอน” จักรพล ยืนยัน