"สิ่งที่เราอยากได้ ไม่ได้ยากอะไร เป็นเรื่องความถูกต้องและความยุติธรรมที่อยากได้"
ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตคนเดือนตุลา 2519 ซึ่งในเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2519 เขามีสถานะเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุตอนหนึ่งในคลิปวิดีโอของเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย ถึงเหตุการณ์สังหารผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 45 ปีก่อน
เช่นเดียวกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล และนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 ม.มหิดล ปี 2519 และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่าน 'วอยซ์' ถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ที่เหมือนเพิ่งผ่านมาเมื่อไม่นาน แต่กินเวลามายาวนานจนแทบลืมไม่ได้ จำไม่ลง
"มันเป็นเหตุการณ์สูญเสียที่ไม่ควรสูญเสีย การถูกปราบปรามถึงชีวิตโดยไม่ได้เป็นความผิด ทั้งที่เราคิดว่าเป็นผู้ถูก ความคิดเห็นถูก แต่เป็นผู้ถูกกระทำจำกัดด้วยวิธีที่รุนแรง เพราะเขาไม่อาจจำกัดเราด้วยการ ถ้าจำกัดให้เราพูดไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีสุุดท้าย" นพ.พรหมิทร์ ระบุ
เหตุการณ์สะเทือนการเมืองไทยและช็อกโลก 6 ต.ค. 2519 ถูกยกให้เป็นการก่ออาชญากรรมทางการเมืองครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย
เพราะถูกบันทึกไว้ว่าคนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง มีผู้เสียชีวิต 45 ราย แบ่งเป็นนักศึกษา ประชาชน 40 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 5 ราย มี 145 รายได้รับบาดเจ็บ อีก 3,049 รายถูกจับกุม ส่วน 18 รายตกเป็นผู้ต้องหาในคดี 6 ต.ค. 2519
(งานรำลึก 45 ปี 6 ต.ค. 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 6 ต.ค. 2564)
"วิธีการฆ่ามันเหลือเชื่อ มีนักข่าวที่ถ่ายภาพในเหตุการณ์ นักข่าวช่วงนั้นมักเป็นนักข่าวสงครามเวียดนาม อย่างน้อย 2 คน 3 คนที่ผมคุยด้วย เขาบอกตรงกันว่า โหดที่สุดที่เขาเคยเจอมา ถึงแม้คนตายใน 6 ตุลา แค่ 40 กว่าคน เทียบไม่ได้เลยกับเป็นพัน เป็นหมื่นในเวียดนาม" ศ.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ม.วิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) สหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ตอนหนึ่งผ่านรายการ Big Dose ทาง ‘วอยซ์ทีวี’ เมื่อ 2 ต.ค. 2559 ถึงเหตุการณ์ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” กับ 6 ตุลา 2519
ภาพนักศึกษาร่างไร้วิญญาณที่ถูกลากกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังถูกนำไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม ท้องสนามหลวง พร้อมทั้งถูกประชาชนรุมประชาทัณฑ์ ด้วยความโกรธแค้นของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มองว่า นักศึกษา นิสิตที่กำลังเป็นอนาคตของชาติ คือ ศัตรู
ภาพที่ไม่น่าจดจำในสายตาประชาคมโลกถูกเผยแพร่ส่งต่อความจริงไปทั่วโลก เมื่อเก้าอี้ฟาดใส่ร่างไร้วิญญาณอย่างไม่ยั้งทั้งที่ร่างกายของผู้เสียชีวิตนั้นไร้ลมหายใจไปแล้ว เพียงเพราะคิดว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้เห็นต่างทางความคิดและอุดมการณ์
’ขวาพิฆาตซ้าย’ จึงถูกเรียกขานมาถึงทุกวันนี้
ศ.ธงชัย ในฐานะอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 2519 ขณะนั้นเขาเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ บอกผ่าน 'วอยซ์ทีวี' เมื่อปี 2559 ว่า "นักข่าวของเอพีคนที่ถ่ายรูปแขวนคอแล้วเอาเก้าอี้ฟาด เขากลับจาก ธรรมศาสตร์ สนามหลวง กลับไปสำนักงาน บอกหัวหน้าข่าวเขา คำแรกหัวหน้าข่าวเขาบอกว่า เป็นไปไม่ได้ คนไทยไม่ทำขนาดนี้ เขาจึงล้างฟิล์มออกมาโชว์หัวหน้าข่าวเขา"
วันเวลาล่วงเลยมาถึง 45 ปี ในวันนี้คนรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิต นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยหลายคนกลับมาตื่นตัวถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกำลังถูกละเมิดสิทธิการแสดงออกไม่ต่่างจากรุ่นพี่
คนรุ่นใหม่ในวันนี้ต่างสงสัยว่าทำไม 45 ปีที่แล้วถึงมีการสังหารนิสิต นักศึกษากลางเมืองหลวงของประเทศตัวเอง
ทำให้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และเครือข่ายแนวร่วมนิสิต นักศึกษาหลายสถาบัน ร่วมกันจุดประเด็นเชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ผ่าน เว็บไซต์ Change.org ภายใต้หัวข้อ "เสนอให้วันที่ 6 ต.ค. เป็นวันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนนักศึกษาสากล ต่อองค์การสหประชาชาติ (UN)"
ล่าสุดเมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 26 ต.ค. 2564 มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญผ่าน Change.org จำนวน 5,221 คน
(นันท์นภัส เอี้ยวสกุล อุปนายกฯ อบจ. และภาพ วิชิตชัย อมรกุล อดีตนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519)
นันท์นภัส เอี้ยวสกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผลักดันวันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียน นักศึกษาสากล เพราะมองว่า 6 ต.ค. 2519 แม้จะผ่านมา 45 ปีแล้ว แต่จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์ยังไม่ถูกจดจจำหรือถูกตีแผ่มากพอ ขณะเดียวกันรัฐไทยไม่เคยออกมายอมรับหรือรับผิดชอบกับความรุนแรงตรงนี้
"6 ต.ค. 2519 ในปัจจุบันก็ยังมีความรุนแรงในลักษณะเดียวกันเกิดซ้ำอยู่ คือพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการคิด หรือการตั้งคำถามของนิสิต นักศึกษา เยาวชน เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระบอบอำนาจนิยมที่กดทับ" นันท์นภัส ระบุ
นิสิตจุฬาฯ ตัวแทน อบจ. บอกว่า แคมเปญ ใน change.org ก็มีคนมาลงชื่อเข้าร่วมเกือบ 5,000 คนแล้วและจะโปรโมทต่อเนื่องสนับสนุนให้มากขึ้น เพราะหลายประเทศก็ถูกกดทับ อย่างฮ่องกง สหภาพนักศึกษาของฮ่องกงโดนยุบและตรวจค้นห้อง หรือสหภาพนักศึกษาในเมียนมาก็โดนจับจากการประท้วงรัฐบาล อยู่ในคุกหลายคน ซึ่งหากมีรายชื่อสนับสนุนเกิน 10,000 ชื่อ ก็จะกำหนดวันที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติทันที
"เราในฐานะเด็กรุ่นใหม่แอบหวาดกลัวว่ามันจะเกิดซ้ำกับเราและถูกลบไปเหมือนกัน"
ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ บอกถึงแนวคิดการผลักดัน 6 ต.ค. ให้เป็นวันสากลของคนรุ่นใหม่ว่า ได้ยินข่าวว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่จะพยายามให้วันที่ 6 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันสากลในการปกปักรักษาสิทธิ การแสดงออกเพื่อประชาธิปไตยเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
"เราไม่เคยคิดมาก่อน เพราะกว่าจะโงหัวขึ้นก็แทบแย่แล้ว กว่าจะเป็นที่ยอมรับ แล้วรุ่นหลังๆ จางลงไป แล้วบังเอิญรุ่นนี้มาต่อสู้อีกทีหนึ่ง แล้วก็รำลึกถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยจิตสำนึกเดียวกัน"
(นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล ช่วงปี 2519)
อดีตนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล บอกว่า การผลักดันเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ผลักดันเพื่อพวกเรา (คนเดือนตุลา 2519) แต่เอาเหตุการณ์การสูญเสียนี้มาเป็นบทเรียนที่ห้ามปรามหรือไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ โดยการผลักดันให้เป็นเรื่องของสากล ถ้าหากเคลื่อนได้ดีๆ จะได้รับการสนับสนุนอย่างมาก คนอย่างพวกเราเองที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้พร้อมสนับสนุน หากผลักดันเรื่องนี้จริงจัง โลกสากลเองมีเหตุการณ์คล้ายๆกัน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เป็นการต่อสู้เหมือนกัน ซึ่งเกิดก่อน 14 ต.ค. 2516
"ตอบชัดๆ เห็นด้วยและสนับสนุนถ้าเคลื่อนไหวให้ดีโดยใช้กลุ่มที่เป็นเหยื่อมาแล้วเป็นตัวตั้ง ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและทำประโยชน์ให้สังคม" นพ.พรหมินทร์ ระบุ
(รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ผลักดันโครงการบันทึก 6 ตุลา (https://doct6.com/) ระบุกับ 'วอยซ์' ในช่วงที่ 6 ต.ค. 2519 เดินมาถึงปีที่ 45 และเพิ่งผ่านพ้นวันที่ 6 ต.ค. 2564 มาเพียงไม่กี่สัปดาห์ว่า ส่วนตัวสนับสนุนและเห็นด้วยกับ การผลักดันของ อบจ.ที่ต้องการให้ 6 ต.ค.ของทุกปี เป็น 'วันปกป้องเสรีภาพการแสดงออกของนักเรียน นักศึกษาสากล'
"ถ้าทำได้สำเร็จจะดีมากจะช่วยให้คนทั้งโลกมาสนใจว่าทำไมต้องเป็นวันที่ 6 ต.ค. จะทำให้คนสนใจเหตุการณ์รุนแรงในเมืองไทย ทำให้เรื่อง 6 ต.ค. แม้รัฐไทยจะไม่ยอมรับว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น หรือไม่บรรจุไว้ในแบบเรียน แต่มันจะกลายเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ"
รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า " ดิฉันคิดว่าเป็นประเด็นร่วมสมัยของเยาวชนที่ต้องการที่จะมีสิทธิมีเสียงในการที่จะพูดถึงประเด็นปัญหาของสังคมของโลกนี้ แล้วในหลายประเทศพวกเขาก็ถูกคุกคามแล้วถ้าผลักดันน่าจะได้รับการสนับสนุนจากเยาวชนในหลายประเทศด้วยกัน"
ส่วนประเด็นที่ยูเอ็นจะมีโอกาสประกาศให้วันที่ 6 ต.ค.เป็นวันปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียน นักศึกษาสากลได้หรือไม่นั้น รศ.ดร.พวงทอง บอกว่า มีความเป็นไปได้แต่ว่าอาจจะต้องใช้เวลา เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะเกิดได้ แต่ถ้าสามารถผลักดันให้เป็นเรื่องเป็นราวให้เหตุผลที่ดีกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาหมายถึงอะไรด้วย อาจจะกว้างกว่าเรื่องทางการเมือง อาจจะรวมถึงในเรื่องสิทธิ เสรีภาพในสถาบันการศึกษาในโรงเรียนในประเทศที่เป็นระบอบอำนาจนิยม การควบคุมเยาวชนมันฝังรากลึกลงไปในระบบการศึกษาโรงเรียนด้วย
"ดิฉันคิดว่ายูเอ็นจะเห็นว่าการกำหนดวันเหล่านี้จะเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นอนาคตของโลกมาให้ความสนใจให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาสังคมมากขึ้น"
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยังมองถึงคุณประโยชน์ในอนาคตถ้าวันที่ 6 ต.ค.เป็นวันสากลด้วยว่า "คนไทยจะสนใจกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น คนไทยหลายรุ่นทีเดียวไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้ก็จะสนใจมากยิ่งขึ้น ส่วนการปราบปราม การกดขี่ สิทธิเสรีภาพของเยาวชนของรัฐบาลไทยก็จะทำได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะว่าจะยิ่งถูกจับตาจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น"
นพ.พรหมินทร์ อดีตคนเดือนตุลา 2519 ยังบอกด้วยว่า หากวันที่ 6 ต.ค. เป็นวันสากล จะถือเป็นแรงกดดันที่ให้เห็นว่าสากลยังยอมรับการเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่ต้องการให้กดดันปิดบังเสรีภาพการแสดงออก เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อคนในยุค 6 ตุลา 2519 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะดำรงอยู่และสืบทอดตลอดไป เป็นอนุสรณ์รูปธรรม สืบทอดเจตนารมณ์ปกปักรักษาไม่ให้มีการใช้การปราบปรามรุนแรงกันถึงชีวิต หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพจนถูกจับกุมคุมขัง
'นันท์นภัส' ก็มองด้วยว่า 6 ต.ค.วันปกป้องเสรีภาพนักเรียน นักศึกษาสากลนี้ จะเป็นการตบหน้ารัฐไทย เพราะว่ามันกลายเป็นคุณค่าสากลที่รัฐไทยไม่เห็นความสำคัญแล้วกลายเป็นว่าวันที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงกับประชาชน
"สิ่งนี้จะทำให้เกิดความตระหนักที่ถูกส่งต่อออกไปในระดับสากลและระดับประเทศคุณเอง ประวัติศาสตร์ที่คุณพยายามที่จะลบทำลาย มันก็จะถูกจดจำในระดับสากลไปเลย โดยที่คุณไม่สามารถไปทำอะไรตรงนั้นได้"
ขณะที่เสียงสะท้อนจากประชาชน โดยประชาชนรายหนึ่งที่ขับรถแท็กซี่ บอกผ่าน 'วอยซ์'ว่า เห็นด้วยหาก 6 ต.ค.จะได้รับการประกาศจากยูเอ็น เพราะทุกวันนี้ มีโซเชียล โลกข่าวสารเห็นรู้หมด จะใช้แบบเดิมหรือทำแบบยุคเก่าไม่ได้แล้ว
ส่วนชายคนหนึ่งที่มีอาชีพนักดนตรีอิสระ ก็สนับสนุนเช่นกัน โดยบอกว่าคงเป็นได้เชิงสัญลักษณ์เป็นที่รู้กันในหมู่คนรุ่นใหม่ หรือนักศึกษา หรือคนที่หัวก้าวหน้า แต่ถ้าจะทำให้สังคมวงกว้างยอมรับ หรือคนรุ่นเก่าที่ยังยึดติดอะไรที่มันเก่าๆ ก็เป็นไม่ได้
(สุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการ ศนท. นำชมลานประติมากรรม ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19)
ภาพจำของคนเดือนตุลา 2519 แม้วันนี้พวกเขาจะอยู่ในวัยที่เกินกว่า 60 กว่าปีแล้วก็ตาม แต่หากให้พูดถึงหรือบอกความรู้สึกภาพจำของ 6 ต.ค. 2519 แล้ว
ทำให้ นพ.พรหมินทร์ พูดด้วยความรู้สึกที่น้ำเสียงสั่นเครือว่า "วันที่ 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้ แต่จำไม่ลง คือเป็นเหตุการณ์ที่ทุกครั้ง จะสังเกตว่าถ้าคุณ (เสียงสั่น) สัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์ แล้วพูดถึงเรื่องนี้ทีไร ก็อดไม่ได้ ทุกคน คุณสังเกตดู พอพูดถึงแตะถึงต่อมนี้ปั๊บ ถามว่ารู้สึกยังไงมันออกมาเอง"
"มันเป็นเหตุการณ์สูญเสียที่ไม่ควรสูญเสีย การถูกปราบปรามถึงชีวิตโดยไม่ได้เป็นความผิด ทั้งที่เราคิดว่าเป็นผู้ถูก ความคิดเห็นถูก แต่เป็นผู้ถูกกระทำจำกัดด้วยวิธีที่รุนแรง เพราะเขาไม่อาจจำกัดเราด้วยการ ถ้าจำกัดให้เราพูดไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีสุดท้าย" อดีตรองนายกรัฐมนตรี ย้ำ
เมื่อถามถึงผลตอบแทนของเหตุการณ์ที่ผ่านมา 45 ปี วันนี้สังคมเริ่มตาสว่างและคนรุ่นหลังต่างให้ความสนใจถึงความจริงในวันนั้น นพ.พรหมินทร์ บอกว่า "เจตนารมณ์คนหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ไม่มีผลประโยชน์ คิดถึงประโยชน์ของสังคมและดำรงความมุ่งหมายต่อสู้จนยอมสละแม้ชีวิตนะครับ เพราะมันสูงสุดแล้ว สิ่งเหล่านี้หลายคนพูดคำเดียวกัน โดยไม่ได้นัดเลยนะครับว่า เรานอนตายตาหลับ ปีนี้รุ่นเด็กๆ ทำเองหมด รุ่นหลังๆ ทำเองหมดมันจะไม่ใช่รุ่นเด็กแล้ว"
"สบายใจ นอนตายตาหลับ เพราะมีคนสืบทอดเจตนารมณ์เหล่านี้ ที่เราอึดอัดอยู่ในใจตลอด"
เช่นเดียวกับ 'สุธรรม แสงประทุม' อดีตผู้ต้องหา 6 ตุลา 2519 และอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ (ศนท.) ปี 2519 ก็พูดในทำนองเดียวกันผ่าน 'วอยซ์' ว่า "คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์กลับมาถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาอยากรู้ว่าฆ่าคนทำไม ทำไมเด็กถึงถูกขัง ฆ่าเพื่ออะไร และความจริงเป็นอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ วันนี้มาสู่เรื่องนั้นแล้ว และเสียงก็ค่อยๆดังขึ้น"
ส่วน ศ.ธงชัย เคยระบุในฐานะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ทาง 'วอยซ์ทีวี' ว่า "ประสบการณ์ทั่วทั้งโลกรวมทั้งในแอฟริกาใต้ มันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง regime change ถ้าไม่เกิด regime change จะไม่สามารถกลับไปทบทวนอดีตได้อย่างจริงจัง"
ภาพ - วิทวัส มณีจักร / ณปกรณ์ ชื่นตา / ปฏิภัทร จันทร์ทอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง