ไม่พบผลการค้นหา
ชี้การตัดเน็ตโดยอ้างท่ีอยู่ไอพี สุ่มเสี่ยงเกิดปัญหา พร้อมยกรณีคดีโพสข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยอ้างไอพีเป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียว

จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 โดยมีสาระสำคัญห้ามนำเสนอข่าว ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมอบให้สํานักงาน กสทช. แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider-ISP) เพื่อตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี (IP address) พร้อมให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต แก่เลขท่ีอยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที

ต่อกรณีดังกล่าว โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยชี้ว่า การที่ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะสั่งให้ กสทช. ตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์​แล้วส่งให้ ISP เพื่อหา IP Address และระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตกับที่อยู่นั้น มีลักษณะเป็นคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพแบบ “เหมารวม” และอาจกระทบกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือกระทบสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องเกินความจำเป็น จนอาจมีผลร้ายได้ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

1. หมายเลข IP Address ที่ ISP จัดสรรให้แต่ละครั้งจะใช้กับ user แต่ละบัญชี ไม่ได้ให้กับ “คน” แต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเท่านั้น สำหรับบ้านที่ต่ออินเทอร์เน็ตด้วยระบบ Wifi เครื่องเร้าเตอร์แต่ละตัวจะใช้ IP Address ร่วมกัน ไม่ว่าใครก็ตามในบ้านหลังนั้นที่ต่อ Wifi ผ่านเร้าเตอร์ตัวนี้ก็จะเป็นผู้ใช้ IP Address หมายเลขเดียวกัน หากมีหนึ่งคนในบ้านที่โพสข้อความบางประการแล้ว กสทช. เห็นว่าเป็นการกระทำความผิด จึงให้ ISP ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ก็จะกระทบกับคนอื่นๆ ในบ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่หมายเลข IP Address มีไม่เพียงพอจะแจกจ่ายให้กับทุกคน ISP จึงอาจจัดสรรให้กับ user รายใหญ่ๆ เช่น จัดสรรให้กับหน่วยงานราชการ จัดสรรให้กับผู้ดูแลตึกขนาดใหญ่ แล้วให้ผู้ดูแลไปจัดระบบการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นการภายในต่ออีกชั้นหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ตามเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยระบบภายในก็จะติดต่อกับ ISP ด้วยที่อยู่ไอพีเดียวกัน หากระงับการใช้หมายเลข IP Address ก็อาจกระทบต่อผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากๆ พร้อมกันได้

2. หากมีคนเข้าใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับความยินยอม เช่น แอบรู้รหัส หรือแฮกเข้ารหัสได้ และใช้อินเทอร์เน็ตของบุคคลอื่นอยู่ตลอด ก็จะปรากฏเป็นผู้ใช้งานหมายเลข IP Address ของเจ้าของตัวจริง และถ้าหากผู้ที่เข้าใช้งานโดยไม่มีสิทธิโพสข้อความบางประการแล้ว กสทช. เห็นว่าเป็นการกระทำความผิด จึงให้ ISP ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ก็จะกระทบกับเจ้าของ IP Address ตัวจริงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

ก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่ นพวรรณ เป็นจำเลยถูกฟ้องว่า โพสข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยมีหมายเลข IP Address เป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหมายเลขที่สมาชิกหลายคนใช้ร่วมกันทั้งบ้าน ศาลพิพากษาว่าลำพังที่อยู่ไอพีพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดไม่ได้ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/27

3. เนื่องจากหมายเลข IP Address ที่ user เข้าใช้งานแต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกัน หาก กสทช. ตรวจพบข้อความที่เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดล่าช้า และส่งให้ ISP ล่าช้า จนกระทั่ง ISP ระงับสั่งการให้บริการอินเทอร์เน็ตจริง แต่ในทางปฏิบัติ หมายเลข IP Address นั้นๆ ก็อาจจะกลายเป็นหมายเลขของ user คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไปแล้ว ส่วนผู้ที่โพสข้อความที่อาจเป็นความผิดจริงๆ ก็ได้หมายเลขอื่นไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น การสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยพิจารณาหมายเลข IP Address อย่างเดียวอาจกระทบกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และเกิดปัญหาอื่นตามมาได้มาก

4. การใช้งานอินเทอร์เน็ตของแต่ละบุคคลมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย นอกจากพูดถึงสถานการณ์บ้านเมืองแล้ว ยังต้องใช้เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร พูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ยิ่งในสถานการณ์โควิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความหมายถึงการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับวัคซีน ลงทะเบียนเพื่อรับการเยียวยาจากรัฐ ใช้สั่งซื้ออาหารและของใช้จำเป็น และการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วด้วย การระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตทันทีย่อมกระทบถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ กระทบต่อสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการติดต่อสื่อสาร และเสรีภาพในการแสดงออกในเรื่องอื่นๆ ด้วย


บรรยากาศละเมิดสิทธิโดยรัฐ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วและข้อมูลสับสน ประชาชนบางคนอาจ “ผิดพลาด” นำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่เมื่อได้ตรวจสอบและรับทราบสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็สามารถย้อนกลับไปแก้ไข หรือลบ หรือนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเยียวยาสิ่งที่ทำไปแล้วได้ แต่หากการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตถูกระงับแล้ว ก็เท่ากับตัดช่องทางที่บุคคลนั้นจะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ตัดช่องทางที่จะได้รับการตักเตือนหรือส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้ตรวจสอบ หรือหากได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องแล้วก็ไม่สามารถกลับไปแก้ไขข้อมูลที่นำเสนอไปก่อนหน้าได้ แต่การระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของบุคคลไม่ได้มีผลระงับการเข้าถึงข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนไปแล้ว

"การระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยพิจารณาเพียงหมายเลข IP Address จึงอาจสร้างผลกระทบได้มาก และให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับการสร้างบรรยากาศที่ต้องการสื่อสารด้วยข้อมูลที่เป็นจริง"