จากกรณีที่วิปรัฐบาลยื่นเรื่องขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร แก้ญัตติของฝ่ายค้านที่ขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยอ้างว่ามีการใช้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ จากการใช้คำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ฉีกรัฐธรรมนูญและใช้ถ้อยคำกล่าวหานายกฯ ว่า เถื่อน - กร่าง ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มั่นใจว่า การฉีกรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเท็จ เพียงแต่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมรับความจริง และมองเรื่องนี้ เป็นเรื่องหยุมหยิม เป็นเรื่องของการใช้ภาษาและถ้อยคำเท่านั้น รัฐบาลควรเอาความจริงมาเป็นที่ตั้ง
ล่าสุดรศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ให้ความเห็นถึงการหยิบประเด็นการใช้ถ้อยคำเป็นเท็จในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่วิปรัฐบาลนำมาเป็นประเด็น ว่า รศ.ดร.ยุทธพร อธิบายในประเด็นนี้ว่า การใช้ข้อความดังกล่าวเป็นลักษณะของข้อกล่าวหาเป็นเรื่องปกติ อาจจะเกี่ยวข้องกับที่มา หรือความชอบธรรม หากย้อนดูที่ผ่านมาก็มีการกล่าวถึงภูมิหลังของนายกรัฐมนตรี เช่น กรณีนายบรรหาร ศิลปอาชา ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านขณะนั้นได้มีการนำประวัติหยิบยกขึ้นมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นเรื่องที่มีการใช้คำดังกล่าว จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี อย่าไปกังวลถึงขั้นว่าจะโมฆะ
"กรณีนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะรับญัตติหรือไม่ ถ้ารับก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งก็จะต้องมีการเรียกวิปทั้งสองฝ่ายมาหารือกัน" รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ
รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า การทักท้วงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของวิปรัฐบาล คงเป็นเทคนิคทางการเมืองที่จะยื้อเวลาของทางฝั่งรัฐบาล เนื่องจากอยู่ในช่วงวิกฤติ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ฝุ่น PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า เพราะฉะนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่วิปรัฐบาลจะดึงเกม แต่ฝ่ายค้านคงไม่ปล่อยช่วงเวลาทองนี้ไป เพราะครั้งนี้เป็นเวทีแก้มือของฝ่ายค้าน
ส่วนฝ่ายค้านเองก็มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบเตรียมตัวที่จะต้องมีเรื่องใหม่ๆ ในการอภิปราย เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ก็เคยถูกอภิปรายแบบไม่ลงมติไปเมื่อช่วงปีที่แล้ว ไม่เช่นนั้นอาจถูกครหาว่าเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ที่พูดแต่เรื่องเดิมๆ
รบ.บรรหาร เมินลาออก งัดยุบสภา หลังผ่านศึกซักฟอก
สำหรับกรณีของนายบรรหาร ศิลปอาชา ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2539 ถูกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในเรื่องสูติบัตร การอภิปรายครั้งนั้น มีการพูดถึงข้อสงสัยเรื่องสัญชาติกำเนิดของบิดานายบรรหาร เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง พรรคร่วมรัฐบาลยื่นข้อเสนอขอให้นายบรรหาร ลาออกจากตำแหน่ง แต่นายบรรหาร ได้ใช้วิธีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแทนการลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 27 ก.ย. พ.ศ.2539
ข่าวที่เกี่ยวข้อง