ไม่พบผลการค้นหา
จับปฏิกิริยาชาวทวิตเตอร์ หลังสนช. โหวตเห็นชอบ 'พ.ร.บ.ไซเบอร์' โดยไม่มีเสียงค้านแม้แต่คนเดียว

โลกทวิตเตอร์ระอุขึ้นทันที หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มีนางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธาน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 133 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง และไม่เห็นด้วย 0

ชาวทวิตเตอร์ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์และติดแฮชแท็ก 'พรบไซเบอร์' จนพุ่งทะยานขึ้นอันดับหนึ่งบนเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยในเวลาเพียงไม่นาน โดยมีการรีทวีตมากกว่า 3.5 แสนครั้งในเวลา 15.30 น. ซึ่งหลายคนเห็นเป็นเรื่องใหญ่และกังวลว่าอาจเป็นข้อผูกมัดจากอำนาจที่ซ่อนอยู่ในตัวเนื้อหา

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ตีความได้กว้าง หรือแม้กระทั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถขอข้อมูล สามารถยึดหรือค้นคอมพิวเตอร์ได้ในกรณีพิเศษ

ร่างฯ ดังล่าวจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช. - NCSC) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  

นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินเจ็ดคนที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

หนึ่งในมาตราที่หลายคนกังวลนั้นคือ มาตรา 67 ที่ระบุว่า กรณีเกิดภัยคุกคามไซเบอร์ระดับวิกฤตินั้น ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ สมช. ให้รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายนี้ว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เป็นภัยคุกคามไซเบอร์ระดับวิกฤติ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายล่วงหน้าก่อน แล้วค่อยแจ้งรายละเอียดการดำเนินการต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว แต่ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา

ในมาตราเดียวดังกล่าวยังมีการระบุด้วยว่า ในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤติ คณะกรรมการหรือ กกม. มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง จากผู้เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่คณะกรรมการหรือ กกม. โดยเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการยื่นขอศาลแต่อย่างใด

53535854_10156821799734985_202516800452165632_n.jpg