นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด 19 (ศบค.) พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และการสอบสวนโรคผู้ป่วยโควิด 19 ที่มาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง โดย 2 วันจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสม 66,847,041 ราย เสียชีวิต 1,534,344 ราย ประเทศที่มีการติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล รัสเซีย และฝรั่งเศส ส่วนประเทศเมียนมาและมาเลเซียยังมีการติดเชื้อสูง ต้องเฝ้าระวังการเดินทางอย่างเข้มข้น สำหรับประเทศไทยวันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ จำนวน 14 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 1 ราย คือ หญิงไทยอายุ 26 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรคที่รัฐกำหนด (ASQ) เป็นผู้ที่มาจากต่างประเทศ 13 ราย เข้าสู่ระบบการกักกันตามปกติ จำนวน 10 ราย จากเบลเยียม ยูเครน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา กาตาร์ สวีเดน ญี่ปุ่น เมียนมา และสหราชอาณาจักร และข้ามพรมแดนธรรมชาติมาจากเมียนมา จำนวน 3 ราย คือ 1. ชายไทยอายุ 70 ปี เข้ารักษาตัวโรงพยาบาลแม่สอด 2. หญิงไทยอายุ 26 ปี อาชีพพนักงานสถานบันเทิง เข้ารักษาตัวโรงพยาบาลนครพิงค์ และ 3.หญิงไทยอายุ 26 ปี เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
"แม้การพบผู้ติดเชื้อจะสามารถติดตามควบคุมสอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังต้องไม่ประมาท การ์ดอย่าตก ขอให้ยึดหลักการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ทำความสะอาดสถานที่ และสแกนไทยชนะ รวมถึงขอให้คนที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศกลับมาตามระบบ หรือผู้ที่เข้ามาแล้วขอให้มาแสดงตัวเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและดูแลตามระบบ จะทำให้สถานการณ์ในช่วงปลายปีและปีใหม่ที่เป็นบรรยากาศของการท่องเที่ยวในประเทศเดินหน้าต่อไปได้ สำหรับกรณีข่าวปลอมต่างๆ เช่น 10 จังหวัดที่ห้ามเดินทาง ขออย่าเชื่อถือและให้ติดตามข้อมูลจากทางราชการเท่านั้น" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด 19 ของไทยช่วงนี้ส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลก ที่มีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้เดินทางเข้ามามีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่การมีระบบกักกันโรคที่ดีจะช่วยป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อได้ ส่วนผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ทำให้มีการติดเชื้อภายในประเทศเพิ่ม 2 ราย ถือว่ายังไม่มาก แต่การสอบสวนโรคทำให้ได้ข้อมูลว่าผู้ป่วยเดินทางไปจุดไหน เวลาใด สัมผัสกับใครที่เรียกว่าไทม์ไลน์ มีประโยชน์อย่างมาก ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในจุดนั้นๆเข้ามารับคำแนะนำการปฏิบัติตัว การตรวจหาเชื้อ ช่วยให้การควบคุมโรคง่ายขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการอย่างเข้มแข็งของแต่ละจังหวัด คือ พบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่การรักษา ผู้สัมผัสทุกคนได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติ และมีการกำกับมาตรการการดำเนินงานในสถานพยาบาล สถานที่ต่างๆ และยานพาหนะ ตามมาตรการป้องกันโรค โดยกรมควบคุมโรคจะประเมินสถานการณ์ร่วมกับทางจังหวัด
"กรณีของผู้ป่วยที่มาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ขณะนี้ทุกจังหวัดอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ เช่นที่เชียงใหม่มีผู้ป่วย 5 ราย ไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนร่วมมือดี มีความปลอดภัย หากไปเที่ยวสามารถไปได้ พะเยา พิจิตร ราชบุรี สิงห์บุรี มีผู้ป่วยจังหวัดละราย ตรวจผู้สัมผัสได้ครบ ไม่พบการติดเชื้อ ส่วนเชียงรายพบผู้ป่วย 11 ราย เนื่องจากอยู่ฝั่งตรงข้ามของท่าขี้เหล็ก ฝ่ายความมั่นคงพยายามควบคุมผู้ลักลอบเข้ามาอย่างเข้มแข็ง ระยะหลังเป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบในสถานกักกันโรค แปลว่าดำเนินการได้ดี ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ ปัญหาการแพร่ระบาดโรคเป็นไปได้น้อย" นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา มีจำนวน 23 ราย ได้แก่ เชียงใหม่ 5 ราย, เชียงราย 11 ราย, กทม. 3 ราย, ราชบุรี พิจิตร สิงห์บุรี และพะเยาจังหวัดละ 1 ราย ส่วนความก้าวหน้าการสอบสวนโรคล่าสุดของผู้ป่วยโควิด 19 เพศชายอายุ 30 ปี และเพศหญิงอายุ 26 ปี ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน พบว่าเป็นเพื่อนกัน วันที่ 6-27 พฤศจิกายน ไปสถานบันเทิง จ.ท่าขี้เหล็ก ผู้หญิงเดินทางกลับกทม. วันที่29 พฤศจิกายน ด้วยสายการบิน Thai Smile WE137 เวลา 20.40 น.ลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 5 ธันวาคมไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนและพบเชื้อ ส่วนผู้ชายเริ่มมีไข้ต่ำๆ ก่อนเดินทางกลับ กทม. วันที่ 30 พฤศจิกายน ด้วยสายการบิน Thai Lion Air SL545 เวลา 19.15 น. วันที่ 4 ธันวาคมมารับการตรวจที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนและพบเชื้อ ทั้งสองรายอยู่ในการดูแลของแพทย์ อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลผู้สัมผัส เบื้องต้นมีสัมผัส 15 ราย สัมผัสเสี่ยงสูงไม่น้อยกว่า 5 ราย คือ เพื่อนใน อ.แม่สาย 2 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ 1 ราย กำลังติดตาม 1 ราย ผู้สัมผัสในครัวเรือนที่ปทุมธานี 1 ราย แท็กซี่ 1 รายและผู้ร่วมเที่ยวบิน2 เที่ยวบิน สัมผัสเสี่ยงต่ำไม่ต่ำกว่า 10 ราย
ส่วนกรณีการติดเชื้อในประเทศ 2 ราย รายที่1.ผู้ป่วยหญิงอายุ 51 ปี จ.สิงห์บุรี มีผู้สัมผัสรวม 227 ราย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ใดติดเชื้อ การสอบสวนจากผังที่นั่งของเที่ยวบิน DD8717 วันที่ 28 พฤศจิกายน เวลา13.40 น.ผู้ป่วยเดินทางเที่ยวบินเดียวกันกับผู้ป่วยราย กทม.อายุ 21 ปี และพิจิตร อายุ 25 ปี โดยรายกรุงเทพฯ และพิจิตรนั่งอยู่อยู่ที่ 44J และ 44K ส่วนรายสิงห์บุรีนั่งอยู่ที่ 52C ห่างกัน 8 แถวและไม่รู้จักกัน สวมหน้ากากบนเครื่องบินตลอด จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดสนามบินแม่ฟ้าหลวง พบว่าผู้ป่วยรายสิงห์บุรีอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับผู้ป่วยรายพิจิตร คาดว่าอาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่ไปห้องน้ำในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบว่า จุดที่มีความเสี่ยงสูงสุดอยู่บริเวณใด ซึ่งทั้งเครื่องบินและสนามบินได้มีการปรับมาตรการแล้ว โดยบนเครื่องบินได้งดการเสิร์ฟอาหารและน้ำในเที่ยวบินที่เดินทางจากเชียงราย สนามบินทำความสะอาดห้องน้ำที่ถี่ขึ้นและจัดระเบียบการพักรอขึ้นเครื่อง ดังนั้น ผู้โดยสารเที่ยวบินดังกล่าวขอให้รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ หากมีอาการป่วยโทรแจ้งทันที 2.ชายไทยอายุ 28 ปี จ.เชียงราย ที่ได้ไปงานฟาร์ม เฟสติวัล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อในผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงและผู้ที่ไปเที่ยวในงานดังกล่าวในช่วง 2 วันที่ผ่านมา จำนวนประมาณ 2 พันคน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
สำหรับการติดเชื้อจากประเทศเมียนมาที่ไม่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก จำนวน 2 ราย พบว่าลักลอบเข้ามาจาก จ.เมียวดี มาทางอ.แม่สอด จ.ตาก รายแรกเป็นชายชาวเมียนมาอายุ 43 ปี อาชีพนักธุรกิจ คาดว่าข้ามพรมแดนมาไทยวันที่ 30 พฤศจิกายน วันที่ 3 ธันวาคม ขอรับการตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลแม่สอดเพื่อเป็นเอกสารการเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ วันที่ 4 ธันวาคม ตรวจพบการติดเชื้อ ไม่มีอาการป่วย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 13 ราย ระบุตัวได้ กำลังเฝ้าระวังกักกัน และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 14 ราย อีกรายเป็นชายเมียนมาอายุ 70 ปี เข้ามาวันที่ 29 พฤศจิกายน ทางช่องทางธรรมชาติ เริ่มมีอาการป่วย วันที่ 4 ธันวาคม มีอาการเหนื่อยมากขึ้น จึงเรียกรถโรงพยาบาลเอกชนมารับ ระหว่างทางอาการไม่ดีขึ้น นำส่งโรงพยาบาลแม่สอด แพทย์ให้การรักษาส่งตรวจพบเชื้อ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 13 ราย