ที่ศาลาบ้านดิน ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายอภิชาติ ศิริสุนทร และ 7 ส.ส.ภาคอีสานพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยนายชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรคภาคอีสาน ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขข้อพิพาทปัญหาผืนป่าทับที่ทำกินภาคอีสาน โดยมีผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานและชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากข้อพิพาท ร่วมพูดคุยสะท้อนปัญหา
นายปิยบุตร ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่เดินทางมารับฟังปัญหาพี่น้องโดยตรง หลายๆเรื่องเป็นปัญหาที่ตกค้างมายาวนานหลายทศวรรษ ในเบื้องต้นปัญหาที่ดินทำกิน ป่าทับที่ ที่ทับป่า หรือป่าอุทยานฯทับที่ทำกินของชาวบ้าน เป็นเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆตั้งแต่ก่อนตั้งพรรค โดยพรรคอนาคตใหม่ได้เลือกตั้งมา มี ส.ส.อยู่ 81 คน แล้วเป็นฝ่ายค้าน ทำให้เกิดอุปสรรคชิ้นใหญ่และเป็นข้อจำกัดเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันแก้ปัญหาต่างๆให้กับพี่น้องประชาชน เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็มีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่อย่างจำกัด แต่ยืนยันจะใช้กลไกอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ผลักดันเรื่องเหล่านี้ต่อไป โดยจะใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้ถามถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ รวมทังตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาเหล่านี้โดยตรง ขณะเดียวกันนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เสนอญัติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการออกประทานบัตรกรณีเหมืองแร่ต่างๆเช่นเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่จะผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อจะได้เป็นประธานกรรมาธิการต่างๆ เพื่อจะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน นี่คือเรื่องในสภาฯ
"สำหรับเรื่องของภาคประชาชน พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่จะทำงานต่อเนื่องตลอดทุกวัน งานของเราไม่ได้มีแค่เลือกตั้ง ไม่ได้มีแต่ประชุมสภาฯ เราจะลงไปพบปะพี่น้องในพื้นที่ต่างๆ ทุกๆสุดสัปดาห์หลังจากประชุมสภาฯ เราจะลงไปพบประชาชน แล้วจะสื่อสารเผยแพร่ปัญหาของพี่น้องแต่ละท้องที่สู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงปัญหาที่พี่น้องประสบพบเจอให้รู้กันในวงกว้าง สุดท้ายการแก้ปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างเรื่องทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของรัฐ หรือเรื่องของชาวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการร่วมกัน วิธีคิดที่ว่า อะไรที่เป็นของป่าสงวนหรืออุทยาน รัฐเป็นเจ้าของ รัฐมีสิทธิจัดการทุกอย่าง วิธีคิดเหล่านี้เป็นปัฐหาเรื้อรังมาหลายทศวรรษแล้ว ปัญหาก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ไม่จบไม่สิ้น เราจะผลักดันวิธีคิดที่ว่า เป็นกรรมสิทธิร่วมกัน เป็นเจ้าของร่วมกัน จัดสรรกับทรัพยากรร่วมกัน แต่เรื่องเหล่านี้ล้วนใช้ระยะเวลาการทำงานทางความคิดอย่างยาวนาน เพราะวิธีคิดของรัฐไทยทุกยุคทุกสมัย ไม่เชื่อเรื่องนี้ คิดอยู่เพียงอย่างว่า มีแค่กรรมสิทธิ์ของเอกชนและเป็นทรัพย์สินของรัฐ ถ้าอะไรก็ตามที่ตกเป็นทรัพย์สินของรัฐ รัฐจะไล่คนออกจากพื้นที่หมด อย่างที่เกิดปัญหามาอย่างยาวนาน" นายปิยบุตรกล่าว
ด้าน นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่ตนอยากจะทำในฐานะฝ่ายค้าน คืออยากจะเรียกร้องไปถึงคณะรัฐมนตรี ผู้แทนในรัฐสภา และคนไทยทุกคน ว่า เรื่องป่าทับที่ที่เกิดขึ้น ตนอยากผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเรื่องของที่ดินไม่ใช่เป็นเรื่องแค่เกษตรกร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างเดียว ถ้ารัฐบาลเป็นมีภาวะเป็นผู้นำที่ดีจะต้องการให้ประชาชนในประเทศ 70 กว่าล้านคน สามารถลืมตาอ้าปากได้ แล้วเศรษฐกิจจะมาจากฐานราก และประชาชนจะสามารถเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้ และงบประมาณหลายๆส่วนก็อาจจะไม่ต้องใช้ นี่คือวิธีแก้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและรวดเร็วมากที่สุด ปัญหาของกระทรวงเกษตร ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงเกษตรแต่เพียงที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพย์ฯ หรือแม้แต่กระทรวงการคลัง ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งสิ้น ตนจึงคิดว่าต้องเป็นวาระแห่งชาติขึ้นมาได้แล้ว ถ้าแก้กฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้อง สามารถแก้ไข้ปัญหาได้ทั้งระบบ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ด้าน นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เป็นตัวแทนของ ส.ส. อีสาน พรรคอนาคตใหม่ ยื่นหนังสือ ถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามหนังสือร้องเรียนชาวบ้าน ให้แก้ไขปัญหาบังคับคดีปัญหาที่ดิน ป่าทับที่ ที่ทับป่า ของพี่น้องประชาชนโดยด่วน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือ การใช้กลไกในรัฐสภา การตั้งทู้ถามถึงรัฐมนตรี ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจะเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่ดิน และข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนถูกรังแกด้วยข้อกฎหมาย เพราะเราคือพรรคของมวลชน ที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างจริงใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาข้อพิพาทย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2516 รัฐได้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ในเวลาต่อมาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้รับสัมปทานให้ปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร โครงการหมู่บ้านป่าไม้ รวมพื้นที่ทั้งหมด 4,401 ไร่ ทำให้เกิดการผลักดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านคัดค้านมาโดยตลอด กระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีตัวแทนชาวบ้านเป็นคณะกรรมการด้วย
จนมีมติเมื่อปี 2548 ว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง หลังจากนั้นมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกหลายครั้ง และมีมติเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ ให้รัฐยกเลิกโครงการสวนป่าคอนสาร และคืนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้าน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการดำเนินงานใดๆ จนกระทั่งปี 2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ซึ่งขณะนั้นศาลพิพากษาให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่ขบวนการต่อสู้ในชั้นศาลดำเนินการเรื่อยมา จนถึงการปิดหมายบังคับคดีในเวลานี้ โดยวัตถุประสงค์เวทีวันนี้ คือการรับฟังปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อหาข้อเสนอร่วมกันพร้อมแนวทางการแก้ไขถึงข้อพิพาทดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง