ไม่พบผลการค้นหา
‘ก้าวไกล’ ข้องใจ รมว.คมนาคม คิดอยากเปลี่ยนชื่อ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ ไม่สนใจต้องเสียงบประมาณเท่าไหร่ มองราคาแพงเกินกว่าเหตุ ซัดใช้เงินมือเติบทั้งที่การรถไฟฯ กรอบใกล้ล้มละลาย ด้าน ‘ศักดิ์สยาม’ ชี้เปลี่ยนชื่อตามประเพณีเพื่อเป็นมหามงคล 'สนามบินหนองงูเห่า' ยังเคยเปลี่ยนเป็น 'สุวรรณภูมิ'

วันที่ 5 ม.ค. 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณีโครงการปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท

จิรัฏฐ์ ระบุว่า ป้ายชื่อของสถานีฯ นั้น ประเมินแล้วไม่ได้หนากว่า 40 เซนติเมตร การเชื่อมโลหะก็ไม่ได้สวยเนี้ยบเป็นมืออาชีพ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับป้ายที่อยู่สูงหลายเมตร แต่ตนข้องใจกับการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรี และการชี้แจงของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ราวกับว่าป้ายนี้ไม่ธรรมดา คุ้มค่ากับราคา 33 ล้าน ซึ่งดูจากลักษณะการจัดตั้งและคุณภาพแล้ว ตนไม่เห็นด้วย เมื่อเทียบกับราคานี้อย่างไรก็ไม่คุ้ม

ส่วนที่การรถไฟฯ ชี้แจงว่าเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่านั้น ตนมองว่า ป้ายเดิมมีอายุเพียง 3 ปีถ้วน สามารถนำคำว่า “สถานีกลาง” คำเดิมมาใช้ก็ได้เพื่อประหยัดงบประมาณ หรืออย่างที่ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอแนะว่าสามารถใช้ 2 รายชื่อควบคู่ไปพร้อมกันได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรประชาชนก็ยังคงเรียกว่าสถานีกลางบางซื่ออยู่ดี

“ที่ผมติดใจอีกอย่างคือ โลโก้ของการรถไฟฯ สูง 7 เมตร ติดทำไม ได้รับพระราชทานมาหรือ เอาโลโก้ติดทำไมให้เสียตังค์ฟรี ผมจดจำโลโก้อันนี้ได้แล้วเป็นประโยชน์กับชีวิตผมอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้กระทรวงคมนาคมเพ่งเล็งหาคนผิดไปที่การรถไฟฯ ที่เดียว เพื่อให้ภารกิจมีความรอบคอบขึ้น เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ม.ค. ปี 2563 บริษัทรับเหมาโครงการติดตั้งป้ายชื่อ คือบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อแบบปัจจุบันนี้เสร็จสิ้น เมื่อกลางปี 2564 รัฐมนตรีกลับมีดำริว่าต้องขอพระราชทานชื่อใหม่ แล้วเร่งเปลี่ยนชื่อทันที

“เมื่อได้ชื่อใหม่เมื่อ ก.ย. 2564 รัฐมนตรีก็ใจร้อน เร่งให้การรถไฟฯ เปลี่ยนชื่อทันที ไม่รู้จะรีบไปไหน การรถไฟฯ จึงต้องกัดฟันใช้วิธีจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อให้ทันใจรัฐมนตรี ... ป้ายเดิมเพิ่งจะติดตั้งเสร็จไม่นานตอนที่ท่านขอพระราชทานชื่อไป แล้วท่านจะเปลี่ยนให้ได้โดยไม่สนใจว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ ท่านไม่รู้หรือว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ตอนอยากจะเปลี่ยนชื่อ”

จิรัฏฐ์ ระบุว่า รัฐมนตรีใช้เงินอย่างมือเติบและเกินกว่าเหตุเกินไป การรถไฟฯ น่าจะเป็นหน่วยงานที่ขาดทุนต่อเนื่องทั้งปีจนแทบจะล้มละลาย แต่กลับให้ไปใช้เงินถึง 33 ล้าน โดยระบุว่าไม่แพงและคุ้มค่า เหตุใดจู่ๆ จึงต้องเปลี่ยนชื่อ หากมองว่าเป็นประเพณีแล้วจะติดตั้งป้ายแบบถาวรตั้งแต่แรกทำไม 

อีกข้อสงสัยคือบริษัทที่ได้เป็นผู้รับเหมา คือบริษัท ยูนิคฯ ได้เคยมีคดีความฟ้องร้องการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ แพ้คดีไป 7,500 ล้านบาท ทั้งที่มีข้อพิพาทใหญ่ขนาดนี้แต่เมื่อใช้วิธีแบบเฉพาะเจาะจง ก็กลับเลือกเอาบริษัทยูนิคฯ กลับมาดำเนินโครงการอีกครั้ง 


เปลี่ยนชื่อตามประเพณีเพื่อมหามงคล

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า การก่อสร้างสถานีกลางฯ นั้น ได้ดำเนินโครงการมาอย่างยาวนาน เทียบได้กับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า ก่อนจะได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นมงคลนาม และใช้งานมาจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในไทยและทั่วโลก ทั่วไปโครงการคมนาคมใหญ่ๆ ล้วนได้พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อเพื่อเป็นมงคล 

โดยกระทรวงคมนาคมได้มีการพิจารณาขอพระราชทานชื่อเมื่อ พ.ค. 2564 ก่อนเปิดให้บริการสถานีฯ และต่อมาได้รับหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟและชื่อสถานีมาให้ คือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นความรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพฯ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระราชทานชื่ออันเป็นมิ่งมงคล กระทรวงคมนาคมจึงสั่งการการรถไฟฯ ให้ติดตั้งป้ายชื่อใหม่ให้เสร็จโดยเร็ว

minister.jpg

สำหรับโครงการติดตั้งป้ายชื่อใหม่นั้น งานด้านสถาปัตยกรรม ติดตั้งกระจก โครงอะลูมีเนียมใหม่ มีราคาสูงถึง 24.394 ล้านบาท รวมถึงงานส่วนอื่นๆ เช่นการรื้อถอน ทำให้มูลค่างานทั้งสิ้น 33 ล้านบาท ส่วนที่ดำเนินโครงการแบบเฉพาะเจาะจงนั้น มีเหตุผลการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับโครงการเดิมคือสถานีกลางที่แล้วเสร็จอยู่ในระหว่างค้ำประกันสัญญา หากไม่ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงอาจจะเกิดปัญหาได้ ขณะที่ราคาดังกล่าวจะแพงไปหรือไม่ ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ใช่ผู้กำหนดราคา

ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสถูกต้องในการดำเนินงาน เมื่อวาน (4 ม.ค.) กระทรวงคมนาคมได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อดังกล่าว และจะทราบผลการสอบข้อเท็จจริงภายใน 15 วัน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานฯ อธิบดีกรมรางเป็นรองประธานฯ และยังมีผู้แทนจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย ตัวแทนจากสภาวิศวกร กรมบัญชีกลาง วิศวกรรมสถาน สภาสถาปนิกแห่งประเทศไทย

“เรื่องการเปลี่ยนชื่อเป็นประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่ความต้องการของผม ในอดีตหรือแม้แต่ในปัจจุบันก็มีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้ เช่น สนามบินหนองงูเห่าที่เปลี่ยนสนามบินสุวรรณภูมิ สถานที่สำคัญของทางราชการหลายแห่งก็ดำเนินการอย่างนี้ หากเห็นว่าเป็นการดำเนิการที่เหมาะสมหรือต้องการสิ่งที่เป็นมหามงคล ถือเป็นการดำเนินการตามปกติ” ศักดิ์สยาม กล่าว

ส่วนเหตุที่ต้องจ้างบริษัทรายเดิม เพราะโครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อยังอยู่ในระยะประกันสัญญา ซึ่งหากเกิดความเสียหายบริษัทรายเดิมก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่เรื่องของคดีความก็ยังไม่ถึงที่สุด สมาชิกฯ ต้องศึกษาระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับการชำระเงินให้ดี ซึ่งพบแล้วว่าตามระเบียบไม่สามารถชำระเงินได้ เพราะไม่ได้อยู่ในสัญญา คงต้องมีการอุธรณ์ต่อไป