ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะยุบเลิกตามความตั้งใจของจุตพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. เพื่อให้เป็นตำนานหรือไม่ แต่ นปช.ก็ได้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับตำนานทางการเมืองไทยในตัวเองอยู่แล้ว แม้ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ ยังไร้ช่องทางการฟ้องเอาผิด'ผู้สั่งการ' จนนำไปสู่ความสูญเสีย 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย

แต่ยังคงมีหนทางฟ้อง 'ผู้ปฏิบัติการ' ให้ซักทอด 'ผู้สั่งการ' จากหลักฐานผลการไต่สวนพลิกศพที่ชี้ชัดว่า กระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ 'ผู้ปฏิบัติการ' จำนวน 14-17 ศพ

พร้อมด้วยพยานหลักฐานจากรายงานจาก "คณะกรรมการค้นหาความจริง" จาก 3 องค์กร ได้แก่ 1) ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) โดยภาควิชาการ

2) คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ. ปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

และ 3) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ซึ่งมีเพียงฉบับแรกเท่านั้นที่ยืนยันว่า เกิดการปราบโดยรัฐ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลอย่างร้ายแรง ส่วนสองฉบับหลังมีเนื้อหาปกป้อง แก้ต่างให้รัฐบาลอภิสิทธิ์

ทว่ายังมีรายงานการค้นหาความจริงอีกฉบับหนึ่ง จากกลุ่มส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่ไม่เคยได้รับการเปิดเผย

อภิสิทธิ์ สุเทพ สภา 4691228.jpg

โดย 'วอยซ์' ได้สืบค้นและคัดมาเผยแพร่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 'ข้อเท็จจริง' ที่ว่า มีการเจรจาระหว่างส.ว.กับรัฐบาลอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกลุ่ม นปช. ซึ่งได้ข้อยุติ ก่อนเกิดสลายการชุมนุมหรือสังหารโหด ประมาณ 8 ชั่วโมง ดังนี้

ภาพรวม 'รายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา' ที่มี จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษขณะนั้น เป็นประธาน มีจำนวนทั้งหมด 394 หน้า แบ่งออกเป็น 5 บท โดยข้อเท็จจริง 2 ชุด ก่อนการสูญเสียครั้งใหญ่วันที่ 19 พ.ค. 2553 ได้มีการบันทึกไว้ในบทที่ 5 ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ 1) บทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภา ดังนี้

รายงานได้บันทึกทึกถึงการทำหน้าที่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเป็นและความตายของผู้บริสุทธิ์ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ค. 2553 ว่า "วุฒิสภามีมติในการหารือนอกรอบให้ตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ สิงห์ชัย ทุ่งทอง และนฤมล ศิริวัฒน์ เดินทางไปเจรจารับเงื่อนไขของแกนนำ นปช. ที่แยกราชประสงค์ แล้วนำเงื่อนไขมาเสนอต่อรัฐบาล เพื่อยุติความขัดแย้งโดยการเจรจา 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนของรัฐบาล แกนนำ นปช. และประธานวุฒิสภา ที่จะทำหน้าที่คนกลางในการเจรจา โดยในเบื้องต้น ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้โทรศัพท์ ประสานแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าไม่ขัดข้อง และยังได้ฝากประเด็นให้ผู้แทนที่จะไปเจรจากับแกนนำ นปช. หาคำตอบ 3 ประเด็น" (หน้า 231)

ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2553 ช่วงค่ำ ผู้แทนส.ว. ได้หารือกับแกนนำ นปช.หลังเวทีปราศรัย แยกราชประสงค์ นำ 3 ประเด็นจาก อภิสิทธิ์ ไปหารือ ซึ่งส.ว.ได้มติตรงกันกับนปช.ว่า นปช.พร้อมหยุดยิง และเข้าสู่กระบวนการเจรจา ซึ่งรายงานฉบับส.ว. บันทึกไว้ว่า "เมื่อทราบข่าวดังกล่าว แล้วรู้สึกสบายใจและยินดีที่เหตุการณ์จะยุติลงด้วยดี โดยไม่มีความรุนแรงและสูญเสียเกิดขึ้น" (หน้า 232)

สถานการณ์ดูเหมือนมีความหวังด้วยกระบวนการสันติวิธี ทว่าเหตุการณ์พลิกกลับชนิดหน้ามือเป็นหลังมือในเช้าวันที่ 19 พ.ค. 2553 ที่รัฐบาลมีการประกาศใช้ 'เขตกระสุนจริง' ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

จนทำให้กลายเป็นการตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางว่า เหตุใดการเจรจาระหว่างนปช.และรัฐบาล โดยมีส.ว.เป็นคนกลางจึงยังเกิดเหตุรุนแรงขึ้นทั้งที่ดูเหมือนได้ข้อยุติร่วมกัน

หลังเหตุการณ์ผ่านไป คณะทำงาน ส.ว. ชุดดังกล่าวได้นำไปสู่การค้นหาความจริงเพื่อจะคลี่คลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้น โดยวันที่ 29 ส.ค. 2554 อภิสิทธิ์เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ ว่า  

"ได้รับการประสานทางโทรศัพท์จาก ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. 2553ว่า วุฒิสภาจะทำหน้าที่เป็นคนกลาง ส่งตัวแทนเข้าไปเจรจากับแกนนำ นปช. จึงฝากให้ ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา แจ้งให้คณะผู้แทนสมาชิกวุฒิสภาไปเจรจาหาคำตอบ จากแกนนำ นปช. รวม 3 ประเด็น พร้อมทั้งแจ้งเงื่อนไขว่า ถ้าจะมีเจรจากัน กลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องยุติการใช้อาวุธ และการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ภายในเวลา 18.00–19.00 นาฬิกา ของในวันที่ 18 พ.ค.2553 ซึ่งหากเลยเวลานี้ไปแล้ว ก็จะยุติการเจรจา แต่ปรากฏว่าหลังจากเวลาที่กำหนดไว้ ยังมีการใช้อาวุธโจมตีออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหลังเวลา 20.00 นาฬิกา จึงไม่ได้มีการประสานงานกับประธานวุฒิสภาแต่อย่างใด และการที่รัฐบาลเข้าดำเนินการ “กระชับพื้นที่” ในเช้าวันที่ 19 พ.ค.นั้น เนื่องจากฝ่ายผู้ชุมนุมยังไม่ยุติการยิงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมีความพยามที่จะเจรจากับแกนนำ นปช.หลายครั้ง แต่แกนนำ นปช.กลับใช้วิธีประวิงเวลา และสร้างเงื่อนไขในการเจรจาขึ้นใหม่ตลอดเวลา" (หน้า 232)

AFP-พื้นที่ใช้กระสุนจริง-life firing zone-สลายชุมนุมเสื้อแดง พ.ค.2553.jpg

ข้อมูลจากอดีตนายกฯ ข้างต้นสวนทางกับ ประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา ผู้โทรศัพท์เจรจา ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2554 ว่า "ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. ตนได้ประสานแจ้งให้ อภิสิทธิ์ทราบว่าวุฒิสภาจะส่งคณะผู้แทนสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปพบและเจรจากับแกนนำ นปช. ในช่วงเวลา18.00 - 19.00 นาฬิกา ซึ่งอภิสิทธิ์ ได้ฝากประเด็นคำถาม 3 ข้อ ให้ไปหาคำตอบจากแกนนำและขอให้ฝ่าย นปช.หยุดยิง แต่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขกำหนดเวลาในการยุติการหยุดยิง ซึ่งหลังจากทราบผลการเจรจาแล้ว ในช่วงดึกของคืนวันที่ 18 พ.ค. (จำเวลาไม่ได้) อภิสิทธิ์ ยังได้โทรศัพท์มาสอบถามว่า เหตุใดจึงยังมีการยิงออกมาจากกลุ่ม นปช.อีก และในรุ่งเช้าของวันที่ 19 พ.ค. เวลาประมาณ 06.00 – 07.00 นาฬิกา (จำเวลาไม่ได้แน่ชัด) อภิสิทธิ์ ได้โทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบว่า ทหารกำลังจะเข้าดำเนินการกระชับพื้นที่แยกราชประสงค์" (หน้า 233)

ทหาร ฉุกเฉิน ยิงปืน เสื้อแดง 3573498.jpg

นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตของคณะกรรการฯ ว่า มีข้อเท็จจริงต่างกัน 2 ประเด็น คือ 1. การกำหนดเงื่อนไขเวลาที่ให้ ฝ่าย นปช.หยุดยิง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันนำไปสู่การตัดสินใจเข้าดำเนินการขอคืนพื้นที่จากฝ่ายผู้ชุมนุมของรัฐบาล และ 2. การประสานงานกันของทั้ง 2 ฝ่าย ภายหลังตัวแทนสมาชิกวุฒิสภาเข้าพบและเจจากับแกนนำ นปช.จนได้ข้อยุติ ซึ่งนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตุในรายงานฉบับดังกล่าว ในประเด็นที่ส.ว.ได้ข้อยุติในการเจรจากับแกนนำ นปช.ในวันที่ 18 พ.ค. เวลา 20.00 น. หรือก่อนสลายการชุมนุมช่วงรุ่งสางวันที่ 19 พ.ค. ราว 8 ชั่วโมง ว่า

"หากมีการกำหนดเงื่อนไขเวลาในการยุติการยิง ตามที่ อภิสิทธิ์ ได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ แล้ว เหตุใดรัฐบาลจึงต้องกำหนดเงื่อนไขในเรื่องเวลา ถ้าไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว และรอฟังผลการเจรจาระหว่างสมาชิกวุฒิสภากับแกนนำ นปช. อีกเพียง 2-3 ชั่วโมง และยอมยุติการดำเนินการเข้ากระชับพื้นที่ ในเช้าวันที่ 19 พ.ค. แล้วให้เวลาแกนนำ นปช. ในการส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา ความสูญเสียคงไม่เกิดขึ้นเช่นที่ปรากฏ หรือแม้ว่าจะมีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้แล้วก็ตาม แต่ถ้าการยกเว้นเงื่อนไขใด ๆ ที่กำหนดไว้แล้วนั้น จะก่อให้เกิดผลในทางที่ดีต่อประเทศชาติและประชาชนแล้ว รัฐบาลก็ควรที่จะนำมาพิจารณา" (หน้า 233)

เสื้อแดง  Cover Template.jpg

รายงานฉบับดังกล่าวยังตั้งข้อสงสัยทิ้งท้ายไว้อย่างแหลมคมในหน้า 244 ว่า

“เกิดอะไรขึ้น”นายกรัฐมนตรีได้รับทราบถึงผลการเจรจาของสมาชิกวุฒิสภากับแกนนำ นปช.หรือไม่ หรือว่าทราบแล้ว แต่ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการตามมาตรการ และแผนปฏิบัติการเดิมที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยมิฟังเสียงจากวุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีไม่สามารถทัดทาน เปลี่ยนแปลงมาตรการที่กำหนดไว้แล้วได้ในวันนั้น หากรัฐบาลรับฟัง และยินยอมที่จะยกเว้นเงื่อนไข แล้วปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านแล้ว ความสูญเสียคงไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็คงน้อยกว่าที่ปรากฏ"

อย่างน้อยที่สุดรายงานการค้นหาความจริงฉบับส.ว. ได้ช่วยคลี่คลายข้อเท็จจริงไว้ส่วนหนึ่ง จากทบาทการทำหน้าที่ของ ส.ว.โดยอาศัยความเป็นกลางทางการเมือง ในการใช้หลักสันติวิธีผ่านกระบวนเจรจากับรัฐบาลและแกนนำนปช. เพื่อมุ่งคลายวิกฤติการเมืองในปี 2553

ซึ่งให้ข้อค้นพบว่า เหตุใดข้อยุติร่วมกันระหว่าง นปช.กับรัฐบาลที่มี ส.ว.เป็นคนกลางจึงไม่อาจสร้างสันติภาพได้

แต่กลายเป็นการปราบปรามโดยรัฐไปได้ อีกทั้งยังชี้ชวนให้ค้นหาต่อไปว่า หลังจาก 20.00 นาฬิกา วันที่ 18 พ.ค. 2553 ช่วงรอยต่อราว 6-8 ชั่วโมงนั้น คณะทำงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีการดำเนินการ หรือพบปะหารือกับบุคคลใดที่มีผลต่อการใช้ "กระสุนจริง" ในรุ่งสางวันที่ 19 พ.ค. 2553 อย่างอำมหิตหรือไม่ หรือเป็นแผนปฏิบัติการเดิมที่วางไว้ล่วงหน้าตามที่รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตไว้  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง