เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเผยว่า นายกรัฐมนตรีซุกะจะเดินทางเยือนเวียดนามซึ่งรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ รวมถึงเดินทางเยือนอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่สมาชิกอาเซียน ระหว่างวันที่ 18-24 ต.ค. 2563 ซึ่งการประกาศเยือนเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกทำให้เกิดการตั้งคำถามจากทั้งสื่อต่างชาติและสื่อญี่ปุ่นเอง ว่าทำไมจึงเป็น 2 ประเทศนี้ ไม่ใช่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ หรือกรุงปักกิ่งของจีน เวียดนามและอินโดนีเซีย 2 ประเทศอาเซียนี้สำคัญอย่างไรต่อญี่ปุ่น
‘คุนิฮิโกะ มิยาเกะ’ อดีตนักการทูตซึ่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษของซุกะระบุว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากขึ้นกับภูมิภาคอาเซียน และสนใจในสถานการณ์ความมั่นคงโดยเฉพาะประเด็นทะเลจีนใต้ ขณะที่เว็บไซต์เจแปนไทมส์รายงานว่า แม้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะเป็นจุดหมายแรกของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นทุกคนนับตั้งแต่ปี 2488 แต่ในตอนนี้การเดินทางเยือนสหรัฐฯ เป็นที่แรกน่าจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดเมื่อมองจากปัจจัยสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่ยังไม่บรรเทา รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้น แต่หากเลือกเยือนกรุงปักกิ่งเป็นที่แรกก็จะกลายเป็นความไม่ถูกต้องทางการเมืองเมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ การเยือนอาเซียนก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่เป็นกลาง โดยการเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีขึ้นในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคนี้ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างพันธมิตรหลักด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นอย่างสหรัฐฯ กับจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนและความกังวลด้านความมั่นคง ที่รวมถึงการที่จีนพยายามเดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาทบนเกาะต่างๆ ในทะเลจีนตะวันออก
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่า สมาชิกอาเซียนซึ่งหลายประเทศมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้กับจีน มักมีจุดยืนระมัดระวังในเรื่องการบาดหมางกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และพยายามไม่เข้าไปติดอยู่ในกับดักการเผชิญหน้าที่ตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่ง ‘ฮา ฮ็อง ฮอป’ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษายูซุฟอีชัคในสิงคโปร์มองว่า การเสริมความร่วมมือด้านการป้องกันตนเองน่าจะเป็นประเด็นหลักของการเยือนเวียดนามของนายกรัฐมนตรีซุกะ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ส่งเรือ 3 ลำ ปฏิบัติการซ้อมในทะเลจีนใต้เพื่อ “เพิ่มขีดความสามารถด้านกลยุทธ” และแวะจอดที่ฐานทัพเรือของเวียดนาม
ทั้งนี้ จีนมีข้อพิพาทกับเวียดนามจากการอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม รวมถึงข้อพิพาทด้านกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์ ส่วนอินโดนีเซียก็ไม่พอใจจีนจากการที่เรือป้องกันชายฝั่งของจีนรุกล้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะนอกหมู่เกาะนาทูนา ขณะที่หนังสือพิมพ์นิคเคอิรายงานเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นมีแผนลงนามข้อตกลงกับเวียดนามเพื่ออนุญาตให้ส่งออกยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันตนเองไปยังเวียดนาม ในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามเสริมขีดความสามารถในการป้องกันตนเองของประเทศในอินโด-แปซิฟิก เพื่อเผชิญกับการขยายอิทธิพลทางทะเลของขีน โดยเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นคนหนึ่งระบุว่า ญี่ปุ่นกำลังหารือเกี่ยวกับการเพิ่มความร่วมมือด้านกลาโหมกับรัฐบาลเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับผลลัพธ์ได้
การเดินทางเยือน 2 ประเทศอาเซียนของซุกะยังมีขึ้นหลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมกลุ่ม ‘ควอด’ (Quad) ในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นการวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการของอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ มองกลุ่มนี้ในฐานะเกราะป้องกันจีน ขณะที่จีนประณามว่าควอดคือ ‘มินิ นาโต’ ที่มีไว้เพื่อควบคุมจีน ซึ่ง ‘ฮา ฮ็อง ฮอป’ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษายูซุฟอีชัคก็มองว่า เวียดนามอาจสนับสนุนกลุ่มควอดหากกลุ่มนี้เปิดกว้างมากขึ้นและหากจีนมีท่าทีรุกรานในทะเลจีนใต้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียอาจไม่ได้เป็นแบบเวียดนาม โดย ‘ยวน เกรแฮม’ นักวิจัยจากสถาบันประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์มองว่าอินโดนีเซียให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และน่าจะรู้สึกไม่แน่ใจเกี่ยวกับกลุ่มควอดเพราะทำลายหลักการนี้ที่ยึดถือ อินโดนีเซียจึงไม่น่าจะรีบกระโดดร่วมเป็นส่วนหนึ่งของควอด
การเลือกเดินทางเยือนเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นชาติแรก แสดงให้เห็นชัดว่าซุกะต้องการเดินหน้าสานต่อวิสัยทัศน์ “อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง” (Free and Open Indo-Pacific) ของอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ซึ่งก็ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับอาเซียนเช่นกัน โดยเวียดนามและอินโดนีเซียก็ยังเป็นประเทศแรกที่อาเบะเดินทางเยือนหลังขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 เมื่อปี 2555 ขณะที่การเยือนเวียดนามและอินโดนีเซียครั้งนี้ของซุกะยังมีขึ้นในขณะที่ญี่ปุ่นพยายามเพิ่มความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานและลดการพึ่งพาจีนด้วยการนำฐานการผลิตกลับมาที่ประเทศหรือย้ายฐานไปอาเซียนมากขึ้น โดยนิคเคอิยังรายงานว่า นายกรัฐมนตรีซุกะมีแนวโน้มประกาศขยายเงินอุดหนุนการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างการเยือนครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ เวียดนามถือเป็นฐานการผลิตยอดนิยมสำหรับบริษัทญี่ปุ่น ครึ่งหนึ่งของบริษัทญี่ปุ่น 30 แห่งที่ได้ประโยชน์จากโครงการของรัฐบาลเพื่อเพิ่มความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งเป้ามาที่เวียดนามซึ่งก็มีความพยายามอย่างหนักในการดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น ขณะที่มีเพียงบริษัทเดียวที่เลือกอินโดนีเซีย โดยบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งไม่พอใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่ไม่มีกฎเกณฑ์ ซึ่งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการปรับปรุง
อ้างอิง Reuters / The Japan Times / Taipei Times