ไม่พบผลการค้นหา
วิจัยเผย การทดสอบระดับโปรตีนในเลือดแบบเบสิกๆ อาจนำไปสู่การทำนายได้ว่าในอนาคตคุณจะเป็นอัลไซเมอร์หรือไม่

เมืื่อวันจันทร์ (20 มกราคม 2562) ที่ผ่านมา งานวิจัยเผยแพร่ผ่านวารสารทางการแพทย์ เนเจอร์ เมดิซีน (Nature Medicine) เปิดเผยว่า การทดสอบความเปลี่ยนแปลงของระดับโปรตีนในเลือด หรือ นิวโรฟิลาเมนต์ ไลต์ เชน (Neurofilament Light Chain: NfL) สามารถบ่งชี้ว่าคนๆ นั้นมีแนวโน้มเป็น ‘อัลไซเมอร์’ หรือไม่ในอนาคต โดยสามารถทดสอบได้เร็วถึง 16 ปี ก่อนผู้ป่วยจะแสดงอาการออกมา

ความน่าทึ่งของ NfL คือมันเป็นตัววัดระดับโปรตีนในเลือด และสามารถบอกได้ว่า คุณสูญเสียเซลล์ประสาทในสมองไปมากเท่าไหร่

“คุณมี NfL มากเท่าไหร่ในเลือด สมองของคุณก็มีการถูกทำลายมากเท่านั้น” มาเธียส จักเคอร์ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาเซลล์ระบบประสาท ศูนย์โรคระบบประสาทประเทศเยอรมนี และหัวหน้าทีมวิจัยระบุ

การวิจัยดังกล่าวดำเนินการมา 7 ปีแล้ว ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 405 คนจากทั่วโลก โดยโฟกัสกลุ่มคนที่ยีนสืบทอดอัลไซเมอร์ต่อกันมาอย่างชัดเจน จำนวน 243 คน ซึ่งเป็นเคสที่เกิดเพียง 1 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั้งหมด ขณะที่อีก 162 คนเป็นกลุ่มปราศจากยีนดังกล่าว

ทีมวิจัยทำการทดสอบระดับโปรตีนในเลือด ภาพถ่ายสมอง และการทดสอบความรู้ความเข้าใจ ทุกๆ 2 ปีครึ่ง สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่มียีนอัลไซเมอร์จะเห็นชัดเจนว่า NfL เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาการทำวิจัย ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์สมองด้วย และตั้งแต่เริ่มต้นทำวิจัยมา ปัจจุบันมีกลุ่มตัวอย่าง 13 คนเข้าสู่ภาวะอัลไซเมอร์แล้ว

สรุปง่ายๆ จากศาสตราจารย์จัคเกอร์ก็คือ “หากระดับของ NfL มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเท่าไหร่ คนๆ นั้นก็จะมีแนวโน้มเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้นเท่านั้น”

หลายคนอาจกำลังส่งสัยเหมือนกันว่า เป็นเพราะอะไร? งานวิจัยชิ้นนี้ถึงกลายเป็นประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับวงการแพทย์ คำตอบคือ เนื่องจากอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ทำวิจัยยากอย่างยิ่งนัก ยากทั้งในเรื่องของตัวแปร ตลอดจนการหาสาเหตุของการเกิด จนนำมาสู่ความลำบากในการผลิตยารักษา

ปัจจุบัน หนทางการรักษาอัลไซเมอร์ที่เห็นผล 100 เปอร์เซ็นต์ยังไม่มี ดังนั้น จักเคอร์จึงคาดหวังว่า ผลการวิจัยฉบับนี้จะทำให้นักวิจัยรายอื่นสามารถต่อยอด เพื่อศึกษาหนทางรักษาใหม่ๆ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอัลไซเมอร์แสดงออกมา

“โรคอัลไซเมอร์สามารถเกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์ได้ก่อนหน้า 10-20 ปี ก่อนมันจะแสดงภาวะอาการออกมา และเรารู้ว่าเราสามารถป้องกันโรคได้ในราว 10 ปีก่อนผู้ป่วยจะเป็นอัลไซเมอร์” ศาสตราจารย์จักเคอร์กล่าว

อย่างไรก็ดี วิจัยฉบับนี้มีจุดบอด เมื่อซีเอ็นเอ็นส่งอีเมล์สอบถามผู้เชี่ยวชาญระบบสมองรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมทำวิจัยด้วย กลับได้ความเห็นที่หลากหลายกลับมา บางรายบอกว่า กลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็กเกินไป คิดเป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั้งหมดเท่านั้น

ขณะเดียวกันบางรายบอกว่า ‘เป็นงานวิจัยที่น่าตื่นเต้น’ เพราะอาจจะนำไปสู่การคิดค้นการรักษาในสเตจที่รวดเร็วขึ้น และสามารถป้องกันการพัฒนาของโรคสมองเสื่อมได้ทันท่วงที

ที่มา :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

On Being
198Article
0Video
0Blog