นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเตรียมการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งประกอบด้วยฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ที่จะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม 2561 จากนั้นก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนที่จะบังคับใช้ต่อไป
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ขณะเดียวกันสิ่งที่จะตามมาหลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็คือค่าครองชีพที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเกือบทุกครั้งที่ผ่านมาเมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำค่าครองชีพก็มักจะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ ดังนั้นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นก็คือประชาชนคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้รับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แม้แต่ผู้ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันโดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอยู่แล้วก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น
นอกจากจะมีการปรับราคาสินค้าต่างๆ ตามค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นแล้วก็มักจะมีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้ามากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้กระทบประชาชนในระดับฐานรากเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมักจะอ้างว่ามีมาตรการป้องกันกลุ่มสินค้าที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาได้ แต่ในความเป็นจริงก็ยังพบการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าทั้ง อุปโภค บริโภค จนส่งผลกระทบกับค่าของชีพของประชาชนโดยทั่วไป
นายองอาจกล่าวอีกว่า ขอฝากรัฐบาลให้ช่วยดูแล เอาจริงเอาจังบริหารจัดการไม่ให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะถ้ารัฐบาลบริหารจัดการควบคุมดูแลไม่ได้ การได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้แรงงานได้ประโยชน์จากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาผลงานด้านเศรษฐกิจ 4 ปี ของรัฐบาล คสช. รอดหรือร่วง? ที่จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ว่า 4 ปีการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ล้มเหลว พิสูจน์ได้จากผลสำรวจโพลทุกสำนักทุกครั้งที่ให้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาอันดับแรกของรัฐบาลชุดนี้ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดจะไม่แย่ลง และดูเหมือนจะดีขึ้นทั้งปี 60 และ 61 แต่ไม่ได้สะท้อนว่าความเดือดร้อนของประชาชนลดลง ผลประโยชน์ของการเจริญเติบโตตกอยู่กับคนบางกลุ่มเท่านั้นไม่มีการกระจายตัว อีกทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดจากการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่รัฐบาลบริหารประเทศมา เศรษฐกิจโตเฉลี่ยปีละ 2.7% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโตเฉลี่ยสูงกว่าไทย จึงเป็นเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไทยโตได้น้อยในขณะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวดี อีกทั้งปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งนายพิชัยเคยขอให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมาโดยตลอด แต่รัฐบาลเพิ่งมาเริ่มดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในปีสุดท้าย จึงตั้งข้อสังเกตว่าที่ทำนี้เพราะต้องการหาเสียงทางการเมืองใช่หรือไม่ เนื่องจากเพิ่งประกาศตัวเป็นนักการเมือง
ส่วนปัญหาการใช้บัตรคนจน นายพิชัย มองว่าผู้ถือบัตรใช้ได้เฉพาะในร้านธงฟ้าประชารัฐที่มีผู้ผลิตไม่กี่รายได้ประโยชน์ ถือเป็นการล็อกสเปกจัดซื้อเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุนบางรายใช่หรือไม่ จึงอยากให้ สตง. และ ป.ป.ช. เข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ ความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังเป็นปัญหา ยอดการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำมาก ยอดขอบีโอไอ เหลือเพียง 6.4 แสนล้านเท่านั้น การลงทุนจริงยิ่งต่ำกว่ามาก และรัฐบาลไม่กล้าแถลงยอดการลงทุนใน EEC ที่ยังไม่ค่อยมีคนมาลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคงสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยจะหวังแต่การลงทุนในภาครัฐคงไม่ได้ แถมการลงทุนในภาครัฐก็เป็นไปอย่างช้ามาก ข้าราชการส่วนใหญ่คงอยากรอทำงานให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า เพราะสามารถตรวจสอบได้ ไม่อยากต้องตอบคำถามแบบคลุมเคลือเหมือน ป.ป.ช. ที่ตอบเรื่องนาฬิกา
นายพิชัย ยังทิ้งท้ายด้วยว่า อยากเตือนรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาหลายเรื่องเช่น ค่าบาทแข็ง พร้อมเพย์ล่มที่ตนเคยเตือนไว้ตั้งแต่รัฐบาลเริ่มใช้แล้ว และ บิทคอยน์ที่อาจจะเป็นปัญหาได้ โดยอยากให้รัฐปรับแนวคิดให้ทันโลกเพื่อประเทศไทยจะได้สามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันได้