ไม่พบผลการค้นหา
อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่าถูกหมายเรียกคดี ม.112 จากการแชร์บทความของ BBC Thai ซึ่งเป็นบทความที่ทำให้ 'ไผ่ ดาวดิน' ถูกดำเนินคดี

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อดีตโฆษก NDM เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ��ดยตั้งค่าให้เข้าถึงได้แบบสาธารณะ วันนี้ (28 ม.ค.) โดยระบุว่าเธอได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาลคันนายาว เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 โดยร้อยโทสมบัติ ต่างทา กล่าวหาว่าเธอกระทำผิดในข้อหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจคันนายาวในวันที่ 18 ม.ค.2561

ข้อความในโพสต์ของชนกนันท์ระบุว่า ข้อกล่าวหาที่ได้รับ เป็นผลจากการแชร์บทความพระราชประวัติ ร.10 ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของบีบีซีไทยเมื่อเดือน ธ.ค.2559 ซึ่งเป็นช่วงที่เธออยู่ต่างประเทศ แต่บทความดังกล่าวทำให้นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมด้านสิทธิชุมชนและประชาธิปไตย ถูกจับกุมและดำเนินคดี ม.112 และชนกนันท์กล่าวว่า ที่จริงเธอต้องถูกดำเนินคดีพร้อมกับจตุภัทร์ เนื่องจาก "ทหารที่ชื่อสมบัติ ด่างทา ได้ไปแจ้งความที่ สน.คันนายาว ตั้งแต่ ธ.ค. 59 แล้ว...แต่สน.มีปัญหาภายใน เลยชะลอการออกหมาย พอทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เอาคดีเก่าๆ กลับมาออกหมายใหม่ ทำให้เราได้หมายในวันนั้น"

อย่างไรก็ตาม ข้อความของชนกนันท์ระบุว่าเธอตัดสินใจลี้ภัย โดยให้เหตุผลว่า "ไม่มีใครอยากให้เราติดคุก 5 ปี จากการโพสต์แชร์ข่าว BBC"

สำนักข่าวประชาไท รายงานว่า ชนกนันท์เป็น 1 ในนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนชุมนุม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมกันทำกิจกรรม “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อเดือน ธ.ค.2558 และเมื่อครั้งที่เธอเข้าอบรมกับภาคประชาสังคมในต่างประเทศช่วงปลายปี 2559 เคยให้ข้อมูลกับประชาไทตอนนั้นว่า หลังจากเกิดกรณีจับกุมจตุภัทร์ เธอได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กโดยเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ 

หลังจากที่เธอโพสต์สเตตัสดังกล่าว ได้มีทหารไปพบกับครอบครัวของเธอ และบอกกับครอบครัวของเธอว่า เธอมีโอกาสที่จะถูกกักตัวที่สนามบินเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย หรืออาจจะถูกกักตัวในขณะที่เดินทางไปขึ้นศาลในคดีส่องโกงราชภักดิ์ ในวันที่ 23 ธ.ค. 2559 เนื่องจากโพสต์ดังกล่าวมีลักษณะที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ส่วนกรณีของจตุภัทร์ ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.2559 และแม้จะยื่นเรื่องขอประกันตัวนับสิบครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว จนกระทั่งจตุภัทร์ตัดสินใจยอมรับสารภาพ และศาลพิพากษาจำคุกจตุภัทร์ 5 ปี เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2560 แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน 

แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยประกาศว่าจะดำเนินคดีกับบีบีซีไทย ในข้อหาเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ผิดมาตรา 112 ของ ประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท อันสืบเนื่องจากบทความเรื่องพระราชประวัติ แต่มีเพียงจตุภัทร์และชนกนันท์ที่ถูกกล่าวหาและดำเนินคดี ซึ่งพลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2560 เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าผู้บริหารระดับสูงของสำนักข่าวบีบีซี ได้เข้าพูดคุยกับตนเพื่อชี้แจงนโยบายการทำงานของ บีบีซี ว่ามีการนำเสนอข่าวที่รอบด้าน ไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มใด

อ่านเพิ่มเติม: