'เพราะความรักเพียงอย่างเดียว คงจะไม่สามารถเป็นหลักประกันของความสุข หรือความสำเร็จในชีวิตคู่และครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์แบบ' คงต้องอาศัยปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ดังนั้น 'การวางแผนครอบครัว' จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ภาพ : pixabay
หากคู่รักตกลงปลงใจจะหล่อรวมชีวิตร่วมกันแล้ว สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ ตั้งเป้าหมายเพื่อให้ครอบครัวมีความพร้อมในทุกๆด้านทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มตั้งแต่การเลือกคู่ครอง การงานอาชีพ ความพร้อมด้านที่อยู่อาศัย การเงิน รวมไปถึง ‘การวางแผนมีลูก’
การมีลูกนั้น เป็นของขวัญจากความรักและประสบการณ์ที่สร้างทั้งความสุขและช่วยเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเต็มไปด้วยความเครียด โดยเฉพาะเมื่อ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพราะว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ย่อมคาดหวังให้ลูกที่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เช่นเดียวกับ การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไร้ปัญหา
งานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ล้วนมีข้อสรุปเดียวกันว่า
"การที่ว่าที่คุณพ่อและคุณแม่มีสุขภาพดีก่อนการตั้งครรภ์ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าการตั้งครรภ์จะปลอดภัย และลูกที่คลอดออกมาจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์"
ซึ่งนั่นหมายความว่า ครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนก่อนตั้งครรภ์นั้น จะมีโอกาสให้กำเนิดลูกน้อยที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพเช่นกัน
วางแผนมีลูกอย่างไร ให้ได้คุณภาพ : นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์
ชวนพูดคุยกับ คุณหมอพันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ โรงพยาบาลพญาไท
คุณหมอพันธ์ศักดิ์ แนะนำว่า คู่รักที่วางแผนสร้างครอบครัว มีความจำเป็นมาก ที่ควรจะต้องได้รับ การตรวจสุขภาพร่างกายก่อนแต่งงานหรือก่อนมีลูก เพื่อตรวจคัดกรองความสมบูรณ์หรือความผิดปกติของร่างกาย โรคหรือภาวะแฝงต่างๆ ทั้งนี้ควรจะได้รับการตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจหาภาวะเลือดจางธาลัสซีเมีย เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อซิฟิลิส เชื้อไวรัสเอชไอวี และการตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน ซึ่งหากพบปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณหมอจะช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที สิ่งเหล่านี้จะเป็นใบเบิกทางได้ส่วนหนึ่ง ในการลดภาวะความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ได้
มาเช็คกันดูว่า ก่อนแต่งงาน / วางแผนมีลูก
เราควรได้รับการตรวจร่างกายเพื่อหาโรคหรือภาวะความเสี่ยงอะไรบ้าง ?
โปรแกรมการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน/ก่อนมีบุตร (โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์)
นอกจากนี้ คุณหมอแนะนำว่า เป็นไปได้ ควรต้องมีลูกให้อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หรือช่วงอายุ 25-35 ปี เพราะเป็นช่วงที่มีสมรรถนะการเจริญพันธุ์สูงสุด
ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยตัดปัญหาภาวะเสี่ยงเรื่องการตั้งครรภ์ที่มีปัญหา อีกทั้งยังเป็นวัยที่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะเลี้ยงดูลูก และเมื่อลูกเติบโตไปสู่วัยรุ่น พ่อแม่ก็ถึงเวลาเลิกจากการทำงาน ซึ่งทำให้สามารถส่งถ่ายต่อเรื่องของการงาน และการเลี้ยงดูครอบครัวในช่วงวัยที่เหมาะสมของลูกได้
ภาพ : pixabay
“แต่ปัจจุบันคนทั่วไปจำนวนมาก แต่งงานและมีลูกช้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังต้องทำงานจนกระทั่งวัยแก่ชรา เมื่อถึงเวลาที่พ่อแม่เข้าสู่วัยที่ต้องการให้ลูกดูแล บางครอบครัวลูกยังเด็กหรือเพิ่งเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอที่จะสามารถดูแลหรือรับผิดชอบเรื่องต่างๆในครอบครัวได้เลย นี่คือปัญหาหนึ่งในปัจจุบัน ที่หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ยังคงตระหนักอยู่” คุณหมอพันธ์ศักดิ์บอก
นอกจากนี้ถ้าคิดวางแผนมีลูก ก็ต้องมีความพร้อมในการเลี้ยงดูเขา เพื่อให้เขาได้เกิดมามีความสุข มีพัฒนาการที่ดี ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมสังคมที่เหมาะสม และควรหาความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกเกิดมามีคุณภาพ
อีกทั้งควรต้องได้รับสารอาหารหรือแร่ธาตุ ที่จำเป็นในการเตรียมพร้อมร่างกายก่อนมีลูก เช่น ผู้หญิงควรรับประทาน กรดโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน เพราะแร่ธาตุโฟลิกนั้นนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์แล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยผลิตไข่ที่สมบูรณ์ ส่วนผู้ชายควรได้รับสารอาหารหรือแร่ธาตุสังกะสี ให้พอเพียง เพื่อเป็นตัวช่วยผลิตตัวอสุจิที่สมบูรณ์ได้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หรือจำเป็นต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ การออกกำลังกายให้เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ
ภาพ : pixabay
ทั้งนี้ การที่คู่สามีภรรยาขยันทำการบ้าน หรือมีเซ็กส์ที่สม่ำเสมอ มีส่วนทำให้เกิดโอกาสการตั้งครรภ์ที่มากขึ้นก็จริง แต่ “โอกาสในการตั้งครรภ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลา 1 เดือนนั้น มีอัตราอยู่ที่ 11 % ซึ่งแน่นอนมีไม่เยอะมาก คงไม่ใช่เอะอะ มีอะไรกันก็ตั้งท้องเหมือนชีวิตในละคร ส่วนการเลือกท่าของการมีเซ็กส์นั้น ไม่ได้มีส่วนช่วยในการกำหนดโอกาสการตั้งครรภ์ได้เลย ยังไม่เคยมีหลักฐานวิชาการมายืนยันเรื่องนี้ทั้งนั้น" คุณหมอพันธ์ศักดิ์กล่าว
สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอีกอย่าง คือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
คุณหมอพันธ์ศักดิ์ชี้ว่า คนทั่วไปอาจยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของเวลาการนอนที่ถูกต้อง การเจริญพันธุ์นั้นมีวงจรการหลับการนอนของมัน นั่นคือ มนุษย์เราควรต้องได้รับการพักผ่อนหรือหลับสนิทก่อน 24.00 น.ของทุกคืน เพื่อให้ระบบวงจรการเจริญพันธ์นั้นมีประสิทธิภาพที่ดี แต่คนเรามักคิดว่า 'นอนเมื่อใดก็ได้ แต่ขอให้นอนให้พอ' ซึ่งไม่ถูกต้อง
หลายคนมักจะชอบมีคำถามว่า คนส่วนใหญ่เขาก็นอนดึกกันทั้งนั้น ต้องจี้จุดเลยว่า เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ก็ถือเสียงส่วนใหญ่นั้นคือความถูกต้อง แต่เราลืมไปว่า มันมีหลักวิชาการ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็ตามวิชาการไม่ได้อยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติจะขับเครื่องบิน เราให้คนส่วนใหญ่ขับได้ไหม ? ก็ไม่ได้ ยังไงก็ต้องใช้นักบินขับ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า การที่คนเราส่วนใหญ่นอนดึกหรือต้องมาทำงานกะดึก จะมีวิธีการแก้ปัญหาเรื่องเวลาการนอนให้มีสุขภาพที่ดี ได้อย่างไร ?
'ไม่มี ...ก็วงจรชีวิตมนุษย์ออกแบบมาให้เราได้ใช้ตามนาฬิกาชีวิตแล้ว แต่คนเรามักจะฝืนธรรมชาติกันเอง' คุณหมอตอบ
อีกสิ่งคือ ความเครียด ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญในการมีลูกให้ได้คุณภาพ ปัจจุบันคนไทยมีปัจจัยเสี่ยงในการแท้งบุตรเพิ่มมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอและความเครียด ซึ่งมีส่วนทำให้ระบบการผลิตฮอร์โมนต่างๆลดลง ฮอร์โมนการเจริญพันธุ์ก็ยิ่งมีส่วนที่ผิดเพี้ยนไปกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่ได้มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าสมัยนี้เด็กที่เกิดมาคุณภาพน้อยลง หรือว่าแท้งง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากธรรมชาติคัดกรองมาแล้ว ทั้งนี้ความเครียดต่างๆนั้นเกิดจากการที่ในแต่ละวันคนเราทำงานหนักเกินไป
'ทุกๆอย่างถ้าให้พูดถึงการแก้ไข ก็แค่เลิกเครียด เลิกนอนดึก มันก็ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุทั้งนั้น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องง่ายๆที่ใครก็รู้ แต่หลายคนก็ยังคงทำไม่ได้' คุณหมอพันธ์ศักดิ์ตอบทิ้งท้าย
ภาพ : pixabay
การวางแผนมีลูกสักคน ให้เข้ามาเติมเต็มเป็นหุ้นส่วนชีวิตรักในครอบครัว ตามความคิดทั่วไปของคู่สามีภรรยานั้น มันคงไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากอะไร แต่จะดีกว่าแค่ไหน ? ที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกำหนดและเลือกชีวิตที่มีสมบูรณ์และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพให้กับเขาได้มากที่สุด
ปัจจัยและตัวแปรที่กำหนดการวางแผนครอบครัวที่สมบูรณ์หรือจะประสบความสำเร็จได้ ล้วนเริ่มต้นจากตัวพ่อกับแม่เป็นสำคัญ ที่ต้องพร้อมปรับตัว เปลี่ยนพฤติกรรม ศึกษาเรียนรู้ ดูแลตัวเองเพื่อพร้อมให้กำเนิด 'ลูก' ที่เปรียบเสมือน 'ของขวัญและรางวัลจากความรัก' ที่เข้ามาเติมเต็มในครอบครัว
"เพราะถ้าเราอยากได้รางวัลที่ 1
เราก็ต้องให้ความสำคัญกับชีวิตของลูกอันดับ 1 เช่นกัน"
รายงานโดย : บุญญิสา เพ็งบุญมา