เมื่อ นายกฯมอบหมายให้ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับมาตรการการปลดล็อคพรรคในขั้นตอนต่อมา หลัง ‘คลายล็อก’ ไปเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการให้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ออกมา ให้พรรคสามารถทำธุรการพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่าการพูดคุยจะมีขึ้น ปลายเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อหารือเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกพรรค แต่ยังไม่ถึงขั้นให้หาเสียงได้ และเชื่อว่าการหารือจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะหากเทียบกับการพูดคุยระหว่าง ‘โดนัล ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ ‘คิม จอง อึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่สิงคโปร์ ยังเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าของไทยก็จะเกิดขึ้นได้ด้วยดีเช่นกัน
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำประชุมร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน กกต. ขณะที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่ง นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เข้าร่วมหารือ และตัวแทนจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หารือเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง คำสั่งหัวหน้า คสช. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยรวม คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยเรื่อง ‘เวลา’ ที่อาจไม่ทันโรดแมปเลือกตั้ง ก.พ. 2562
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ข้อสรุป 4 ข้อ เสนอ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณา ได้แก่ 1. จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการการประชุมใหญ่ของพรรค อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้
2. คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายขั้นตอนคือการประชุมใหญ่ ไพรมารีโหวต การคัดเลือกรับสมัครผู้รับเลือกตั้งที่มีหัวหน้าสาขาพรรคอยู่ จะทำอย่างไร ในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้
3. การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน
4. การบริหารจัดการ กำหนดเวลาต่างๆ ที่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ผูกการเลือกตั้งท้องถิ่น ผูกกับ กกต. ชุดใหม่
พร้อมกับเสนอ 3 ทางออกคือ พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. และมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด ‘คลายล็อกแต่ไม่ใช่ปลดล็อก’ เพราะหากปลดล็อกไปทั้งหมดก็จะสะดุดบางอย่างได้ แต่หากจะใช้ พ.ร.ก. เพื่อแบ่งเขตโดยเฉพาะไม่สามารถได้ แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ก็สามารถออกเป็นพ.ร.ก.โดยพ่วงเรื่องการแบ่งเขตเข้าไปได้
ส่วนการใช้ มาตรา 44 เคลียร์ทางได้ไวที่สุด นายวิษณุ เลือกที่จะไม่ตอบ เพราะอำนาจการตัดสินใจใช้ มาตรา 44 นี้ อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทั้งหมดนี้ก็พอจะจับทางได้ว่ายังมีโอกาสใช้ได้ในอนาคต ถ้าสถานการณ์ ‘ฉุกเฉิน’ จริงๆ
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่าการหารือครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น หลังกฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประกาศใช้ทั้งหมด โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีการแก้ไขให้บังคับใช้ออกไป 90 วัน หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะประกาศราชกิจจานุเบกษา ช่วงเดือนก.ย.นี้ ทำให้กรอบการเลือกตั้ง 150 วัน จะอยู่ที่ช่วงเดือน ธ.ค. 2561 - เม.ย. 2562 นั่นเอง
แต่ พล.อ.ประวิตร แสดงความมั่นใจแล้วว่าจะเกิดขึ้นทัน ก.พ. 2562 ตามโรดแมปเดิม หลังศาลรัฐธรรมนูญ ตีความแล้วว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้โรดแมปเดินต่อไปได้ ถือเป็น ‘สัญญาณบวก’ โอกาสเลื่อนเลือกตั้งลดลงไป
แต่เริ่มมีข้อเสนอของ 2 พรรคการเมือง พรรคภูมิใจไทยและพรรคอนาคตใหม่ ที่อยากให้มีการ ‘ไลฟ์’ ถ่ายทอดสดการหารือนัดแรกนี้ด้วย ด้วยเหตุผลไม่จำเป็นต้องปิดบัง แต่ในขณะนี้ พล.อ.ประวิตร ยังปฏิเสธข้อเสนอนี้
“ก็แล้วแต่ อยากมาก็มา ไม่อยากมาก็อย่ามา และไม่ให้ไลฟ์สด เป็นการพูดคุยกันก่อน จะมาไลฟ์สดอะไร” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ส่วนการใช้พื้นที่จัดการพูดคุยครั้งแรก ก็มีการมองว่าจะเป็นที่ ทำเนียบรัฐบาล หรือ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี เพราะเป็นพื้นที่ ‘กลาง’ ที่สำคัญ โดยเฉพาะสโมสรทหารบก ที่มีพื้นที่เหมาะสม อีกทั้งเคยใช้พูดคุย 7 ฝ่าย สมัยก่อนรัฐประหาร 22พ.ค.2557 ด้วย ที่สุดท้ายผลการหารือหา ‘ทางลง’ ต้องล้มเหลว จนนำมาสู่การยึดอำนาจ ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ ทำให้มีการกล่าวว่า “เริ่มที่นี่ คงจบที่นี่” ด้วย
“โอ๊ย คิดมากไปได้” พล.อ.ประวิตร ร้องสื่อถาม ใช้สโมสรทหารบก ซ้ำรอยอดีตไหม
แต่พื้นที่ ทำเนียบรัฐบาล ก็ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญ เพราะเท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เปิดบ้านต้อนรับ ‘นักการเมือง’ ได้เข้ามาหารือกัน แน่นอนว่าทำเนียบฯก็คือปลายทางของบรรดานักการเมืองที่มีเป้าหมายเข้ามาเป็น ‘รัฐบาล’ นั่นเอง
แต่ต้องดูจำนวนผู้เข้าร่วมว่ามีจำนวนเท่าใดและใช้กี่ฝ่ายในการพูดคุย โดยเบื้องต้น คือ แม่น้ำ 4 สายเดิม ร่วมกับพรรคการเมือง และยังมีสื่อมวลชนอีกด้วย จำนวนคนนั้นมากพอสมควร จึงอาจใช้ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี เพราะสถานที่รองรับจำนวนคนเหล่านี้ได้
อย่าลืมว่าเมื่อปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมา โดย 1 ใน 4 คณะกรรม คือ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ได้เชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองทั้ง นปช. และ กปปส. มาพูดคุย จนนำมาสู่การ ‘สัญญาประชาคม 10 ข้อ’ จึงทำให้ พล.อ.ประวิตร ถูกจับตาเป็น ‘มิสเตอร์ดีล’ ทันที
แต่ผ่านมาไม่ถึง 1 ปี เป้านี้กลับตกไปที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่มีกระแสมาแรงว่ากำลังปลุกปั้นพรรคพลังประชารัฐ นอมินี คสช. อีกทั้งปรากฏการณ์ ‘พลังดูด’ กับพรรคการเมืองท้องถิ่นและตระกูลการเมือง
เชื่อได้ว่า พล.อ.ประวิตร จะทำภารกิจนี้ให้ผ่านไปได้ เพราะมีประสบการณ์เจอบรรดานักการเมืองมาพอสมควรและมี ‘คอนเนคชั่น’ ที่ไปถึงได้หลายฝ่าย
ด้วย พล.อ.ประวิตร เคยได้รับการผลักดันจากนายทักษิณ ชินวัตร ขณะเป็นนายกฯ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. โดยโยกลูกพี่ลูกน้องอย่าง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.สูงสุดแทน และ พล.อ.ประวิตร เคยเป็น รมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วย ซึ่งก็ทำงานใกล้ชิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะเป็นอดีตรองนายกฯ ขณะนั้นด้วย
ทำให้ พล.อ.ประวิตร นอกจากได้ชื่อว่าเป็น ‘มิสเตอร์ดีล’ แล้ว มาสู่การเป็น ‘ผู้จัดการ(ทุก)พรรค’ ด้วย ซึ่ง ‘บารมี – คอนเนคชั่น’ ของ พล.อ.ประวิตร เอง น่าจะสามารถควบคุมการหารือได้เพราะรู้จักมักคุ้นบรรดานักเลือกตั้งมาตั้งแต่อดีต
อีกทั้งการ ‘ทยอย’ ปลดล็อกพรรคการเมืองทีละขั้นตอน ก็เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ พร้อมทั้งควบคุมกลไกของพรรคต่างๆได้ไปในตัว ส่งผลให้ช่วง ‘ลงหลังเสือ’ ของ คสช. ไม่เสียท่า ซ้ำรอย ‘เสียของ’ เช่น รัฐประหารในอดีต ซึ่งการ ‘คลายล็อก-ปลดล็อก’ ครั้งนี้ สะท้อนอีกนัยหนึ่งได้ว่า คสช. ต้องมีความมั่นใจพอสมควรในสนามเลือกตั้งครั้งนี้
โดยเหลือระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ที่จะมีการพูดคุย ซึ่งทีมงาน คสช. ก็อยู่ระหว่างการเตรียมงาน พร้อมยืนยันว่าทันเวลาแน่นอน
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดวัน การเชิญพรรคมาร่วมหารือ และการจัดรูปแบบการประชุม ซึ่ง พล.อ.ประวิตร จะต้องรับหน้าที่นี้แทนเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการเยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส 20 - 25 มิ.ย.นี้
จับตายาวๆ กับ โมเดล ‘ลงหลังเสือ’ ให้ไร้แผล กับมือ ‘ผู้จัดการ(ทุกพรรค)’ ของ พล.อ.ประวิตร !!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง