ไม่พบผลการค้นหา
สื่อนอกรายงานเรื่องภิกษุณีไม่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านกฎหมายและในคณะสงฆ์เอง ขณะที่รัฐบาลกลับมีงบประมาณสนับสนุนพระสงฆ์อย่างจริงจัง

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าภิกษุณีไทยไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ อีกทั้งยังไม่ถูกรับรองในกฎหมายไทยด้วย โดยปี 1928 สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้สั่งห้ามภิกษุสงฆ์บวชให้ผู้หญิงเป็นภิกษุณี และแม้รัฐธรรมนูญจะรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่รัฐบาลไทยก็สนับสนุนคำสั่งห้ามนั้น

อย่างไรก็ตาม จำนวนภิกษุณีในไทยก็ยังเพิ่มขึ้นมากกว่า 270 รูปแล้ว หลังจากที่ภิกษุณีธัมมนันทาได้บวชที่ศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศที่นับถือพุทธนิกายเถรวาทเพียงประเทศเดียวที่ยอมรับภิกษุณี จากนั้นภิกษุณีธัมมนันทาได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งภิกษุณีธัมมนันทาพยายามปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสงฆ์ รวมถึงพยายามสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาของผู้หญิงในสังคมที่ภาครัฐและ คณะสงฆ์มองข้าม

ด้านพระธรรมกิตติเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสและประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ แสดงความเห็นว่า ภิกษุณีมักอ้างถึงรัฐธรรมนูญว่าการบวชภิกษุณีไม่ขัดรัฐ ธรรมนูญ แต่ศาสนาไม่ใช่เรื่องกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขเมื่อไหร่ก็ได้ แต่กฎของสงฆ์ระบุว่าการบวชภิกษุณีเป็นเรื่องผิด

สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่รัฐจัดการเรื่องภิกษุณีแบบปิด ตาข้างเดียว ภิกษุณีธัมมนันทาพยายามหลายครั้งที่จะให้รัฐบาลรับรองภิกษุณีอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่สำเร็จ และทางการไทยควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมักอ้างประกาศของสมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อ 90 ปีก่อน

ขณะที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปก็มองเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป ฝ่ายที่สนับสนุนให้เหตุผลว่า ธรรมชาติของศาสนาพุทธ จะเคารพคนที่ควรเคารพ ภิกษุณีก็ปฏิบัติตัวน่าเคารพ ชาวพุทธจึงควรเคารพภิกษุณีเช่นกัน ส่วนฝ่ายต่อต้านก็มองว่าทางการไทยควรปราบปรามวัดของภิกษุณีเพราะผิดกฎของสงฆ์และเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

พูดคุยกับ “หลวงแม่ธัมมนันทา” : เมื่อภิกษุณีไทยยังไร้ที่ยืน