ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับคำถามจากเพื่อนฝูงอยู่บ่อยครั้งว่า “อ้าว ทำไมหนังเรื่อง Fahrenheit 11/9 ถึงกลับมาฉายล่ะ มันหนังเก่าไม่ใช่เหรอ” ก่อนจะต้องอธิบายความกันว่านี่คือหนังเรื่องใหม่ที่เพิ่งฉายปีนี้ ส่วนเรื่องที่แล้ว Fahrenheit 9/11 ออกฉายตั้งแต่ปี 2004 นู่น
นี่คือสารคดีเรื่องใหม่ล่าสุดของ ไมเคิล มัวร์ นักทำสารคดีจอมลุยที่เอาตัวไปอยู่ในหนังเสมอ นอกจากจะอยู่ในตำแหน่งผู้กำกับแล้ว มัวร์ยังมีสถานะเป็น ‘ผู้ดำเนินเรื่อง’ มีการบันทึกภาพตัวเองสัมภาษณ์พูดคุยกับบุคคลต่างๆ รวมถึงการลงเสียงบรรยายหนังทั้งเรื่อง ความโดดเด่นของมัวร์อยู่ที่การกล้าเผชิญหน้าตรงๆ กับฝ่ายตรงข้ามและการน้ำเสียงบรรยายอันเสียดเย้ยเจ็บแสบ
Fahrenheit 9/11 คือหนังดังของมัวร์ที่คว้ารางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ หนังว่าด้วยการแฉทฤษฎีสมทบคิดต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 และโจมตีอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ชนิดไม่ไว้หน้า เป้าหมายของมัวร์ในคราวนั้นคือการโน้มน้าวให้คนเลือกพรรคเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกันในการเลือกตั้งปี 2004 เพื่อให้ยุคสมัยของบุชจบสิ้นลงเสียที แต่กลับกลายเป็นว่าบุชได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่สอง
บางส่วนวิจารณ์ว่าหนัง Fahrenheit 9/11 ทำให้เกิดปฏิกิริยาสวนทางกับสิ่งที่มัวร์คาดหวังไว้ การที่หนังด่าบุชอย่างรัวๆ ยิ่งเป็นการผลักคนไปฝั่งตรงข้าม อีกทั้งทฤษฎีสมคบคิดอันซับซ้อนในหนังกลับไปกระตุ้นให้อเมริกันชนที่ยังหวาดผวาจากเหตุ 9/11 และการก่อการร้ายยิ่งเทคะแนนไปยังตัวเลือกที่ดูปลอดภัยและมั่นคงกว่าอย่างบุช ผู้ประกาศกร้าวว่าจะกวาดล้างผู้ก่อการร้ายให้หมดสิ้น
บทเรียนครั้งใหญ่จากหนังเรื่องที่แล้วดูเหมือนจะทำให้มัวร์เปลี่ยนวิธีคิดของการทำหนังอยู่เหมือนกัน
Fahrenheit 11/9 ยังมีกลยุทธ์คล้ายๆ กับหนังภาคก่อนด้วยการเลือก ‘เป้าหมาย’ สักคนเป็นตัวชูโรง ซึ่งคนที่มัวร์เล็งคราวนี้ก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา
หนังเปิดฉากด้วยความขำขันยียวนตามสไตล์ที่มัวร์ถนัด ทั้งความช็อกและผิดหวังของฝั่งเชียร์เดโมแครตที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง รวมถึงการรวมฮิตคำสัมภาษณ์บ้าๆ บอๆ หรือพฤติกรรมน่ากระอักกระอ่วนใจทั้งหลายของทรัมป์ เพื่อไปสู่ความรู้สึกว่า ‘ไอ้บ้านี่มันมาเป็นผู้นำประเทศได้ไง(วะ)’
อย่างไรก็ดี แทนที่จะเดินหน้าบ่อนทำลายทรัมป์และพรรครีพับลิกัน มัวร์กลับย้อนมาตั้งคำถามว่าใครกันหนอที่ทำให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจนได้ คำตอบก็คือความผุพังภายในของฝั่งเดโมแครตเองนั่นแหละ ทั้งบรรดาสมาชิกหัวเก่าที่ไม่ยอมรับเสียงของสมาชิกคนรุ่นใหม่, การละเลยคะแนนเสียงที่ลงให้กับเบอร์นี แซนเดอร์ส หรือหนังยังไปไกลด้วยฉากหนึ่งที่ฉีกหน้า บารัก โอบามา อย่างรุนแรง
นอกจากจะไม่เข้าข้างเดโมแครตอย่างออกนอกหน้าแบบเรื่องที่แล้ว ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ในขณะที่ Fahrenheit 9/11 พูดถึงเรื่องใหญ่โตแบบการเมืองระหว่างประเทศ Fahrenheit 11/9 กลับมีเนื้อหาหลักว่าด้วยการต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ว่าจะชาวเมืองฟลินต์ที่ประท้วงเรื่องน้ำเสีย เหล่าคุณครูที่นัดหยุดงานเพื่อขอขึ้นค่าแรง ไปจนถึงกลุ่มหนุ่มสาวที่เดินขบวนต่อต้านกฎหมายการครอบครองปืนหลังจากเกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียน
เรียกได้ว่าธีมหลักของ Fahrenheit 11/9 คงเป็นเรื่องของการต่อสู้หรือความหวังระดับจุลภาค ราวกับมัวร์กำลังส่งสารว่า ดวงไฟดวงเล็กทั้งหลาย หากก่อรวมกันก็กลายเป็นเปลวเพลิงขนาดใหญ่ได้
ถึงกระนั้น หนังก็ไม่ละทิ้งพระเอก (?) ของเรื่องอย่างทรัมป์ ฉากที่น่าจดจำในช่วงท้ายคือการตัดต่อฟุตเทจการปราศรัยของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เข้ากับเสียงพูดของทรัมป์อย่างแนบเนียน เป็นข้อพิสูจน์ว่ามัวร์และทีมงานไม่ได้เก่งกาจแต่เรื่องประเด็นเท่านั้น ทักษะทางภาพยนตร์ก็คมกริบ ทั้งการเลือกใช้เพลงประกอบแบบเย้ยหยันทั้งเรื่อง หรือการเลือกฟุตเทจต่างๆ มาตัดแปะจนกลายเป็นงานคอลลาจชั้นดี
ต้องสารภาพว่าขณะนั่งดูภาพยนตร์เรื่องนี้ คำถามหลักของผู้เขียนไม่ใช่เรื่องทำนองว่า “ทรัมป์มาได้ไง” หรือ “ทำยังไงเราจะหลุดพ้นจากลุงต.. เอ๊ย ทรัมป์ได้” แต่เป็น “เมืองไทยจะทำหนังแบบนี้ได้หรือไม่” น่าเศร้าที่คำตอบว่า ‘ไม่’ ปรากฏตัวแทบจะทันทีทันใด อย่างที่เห็นกันว่าบ้านเราไม่มีหนังการเมืองสังคมมานานแล้ว หรือหากจะทำก็ต้องเป็นอุปมาชนิดอ้อมโลกตีความกันสามชั้น (เพื่อความปลอดภัยของผู้สร้าง)
ผู้เขียนเคยมีความหวังกับละครเวทีไทยที่มักจะตอบโต้กับกระแสสังคมได้เร็ว แต่หลายปีมานี้การแสดงหรืองานเสวนาใดๆ ที่มีประเด็นทางเมือง จะมี ‘แขกไม่ได้รับเชิญ’ มาร่วมวงหรืออัดวิดีโอ (โดยไม่ขออนุญาต) ด้วยเสมอ หรือล่าสุด งานชิ้นหนึ่งในงาน Thailand Biennale ถูกสั่งให้เปลี่ยนเนื้อหา เมื่อศิลปินไม่ยอม งานก็ถูกถอดออกจากนิทรรศการ ส่วนประเด็นถกเถียงในวงการภาพยนตร์ไทยเมื่อเร็วๆ นี้คือ...พระร้องไห้ได้หรือไม่
สภาพสังคมแบบนี้พูดได้เลยว่าโอกาสที่จะมีคนอย่าง ไมเคิล มัวร์ คงแทบเป็นศูนย์