นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และหลังฝนตกจะมีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติจำนวนมาก ประชาชนมักเก็บมาขายหรือนำมาปรุงอาหารรับประทานในครอบครัว ซึ่งแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษเป็นประจำ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนนิยมรับประทาน แต่เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 5 พ.ค. 2561 ได้รับรายงานผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ จำนวน 94 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ส่วนข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) เฉพาะในช่วงหน้าฝนของทุกปี (พ.ค.–ก.ย.) พบผู้ป่วยปีละประมาณ 1,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยตลอดทั้งปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานจนถึงผู้สูงอายุ (อายุ 45 ปีขึ้นไป) ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถรับประทานได้ แต่แตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง
นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ส่วนเห็ดอีกชนิด คือ เห็ดหมวกจีน จะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดโคนขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้
สำหรับอาการหลังรับประทานเห็ดพิษแล้ว จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน การช่วยเหลือในเบื้องต้นคือ กระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียนโดย ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ล้วงคอให้อาเจียน หรือดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา (วิธีนี้ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี) จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย (หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้
ขอเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย